นักอนุรักษ์ค้านสร้างฝายบนพื้นที่ต้นน้ำอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ ชี้กระทบระบบนิเวศ

สิ่งแวดล้อม
29 พ.ค. 59
13:40
562
Logo Thai PBS
นักอนุรักษ์ค้านสร้างฝายบนพื้นที่ต้นน้ำอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ ชี้กระทบระบบนิเวศ

การเดินหน้าสร้างฝาย 7,200 แห่ง ของ จ.เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำแก้ภัยแล้ง ถูกท้วงติงจากนักอนุรักษ์บางส่วน หลังพบว่า 1 ในพื้นที่นำร่อง คือผืนป่าดอยสุเทพซึ่งมีความสมบูรณ์ หากสร้างฝายอาจกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ ทั้งเกิดการทับถมตะกอนดินทรายให้ร่องน้ำตื้นเขิน ยังเป็นการกั้นทางน้ำ

วันนี้ (29 พ.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ภัยแล้งในปีนี้จะยาวนานกว่าทุกปี แต่ลำห้วยกว้างในหมู่บ้านจอมแจ้ง ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ยังคงมีน้ำเหลือบริเวณหน้าฝาย หลังชาวบ้านและ หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันอนุรักษ์ป่า และสร้างฝายชะลอน้ำกว่า 700 ฝาย ในผืนป่าต้นน้ำ

การสร้างฝายในป่าเพื่อชะลอการไหลของน้ำ และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง นับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย

ล่าสุด อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กำลังสร้างฝายนำร่อง 720 ฝาย จากทั้งหมด 7,200 ฝาย ตามแผนของ จ.เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และกักเก็บน้ำแก้ภัยแล้ง

แต่ในมุมมองของ นณณ์ ผาณิตวงศ์ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กลับไม่เห็นด้วยกับการสร้างฝายในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์อยู่แล้ว

โดย นณณ์ ให้เหตุผลว่า จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศลำธาร เนื่องจากในฤดูฝนตัวฝายจะเป็นขวางกั้นน้ำ ทำให้เกิดการทับถมตะกอนดินทรายจนร่องน้ำตื้นเขิน สูญเสียความสามารถในการเป็นทางน้ำ และกระทบกับสัตว์บางชนิด

“ทั้งนี้ การสร้างฝายควรใช้วัสดุไม่ถาวร เช่น ไม้ไผ่ หรือหินขนาดใหญ่นอกเขตลำธาร และไม่ควรใช้ไม้ยืนต้นหรือก้อนหิน ในลำธารมาสร้างฝาย เพราะเป็นการทำลายโครงสร้างเดิมของลำธาร ทำให้เกิดการกัดเซาะดิน และ ตลิ่ง” กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ระบุ

ส่วนจุดที่ควรสร้างฝาย นณณ์ อธิบายว่า คลองขุดเพื่อส่งน้ำไปตามพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นพื้นที่เหมาะสม ซึ่งการสร้างฝายจะช่วยเก็บกักน้ำ ทำให้สัตว์มีน้ำกิน และช่วยให้ป่าฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ยกเว้นป่าเต็มรังและป่าเบญจพรรณ ที่ลำธารแห้งเป็นปกติในช่วงฤดูแล้งอยู่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง