อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เสนอขุดคอคอดกระ อ้างทำให้ไทยได้ประโยชน์มหาศาล

เศรษฐกิจ
30 พ.ค. 59
21:00
939
Logo Thai PBS
อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เสนอขุดคอคอดกระ อ้างทำให้ไทยได้ประโยชน์มหาศาล
อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวคิดให้รัฐบาลขุดคอคอดกระ เพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทยให้เรือขนส่งสินค้าเข้ามาใช้เส้นทางนี้จากเดิมมีแค่ช่องแคบมะละกา โดยเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มหาศาล

วันนี้ (30 พ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.หาญ ลีลานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอให้ขุดคอคอดกระ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2559 เพื่อเสนอแนวคิดให้รัฐบาลขุดคอคอดกระ เพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทยให้เรือขนส่งสินค้าเข้ามาใช้เส้นทางนี้จากเดิมมีแค่ช่องแคบมะละกา โดยระบุว่า ถ้าขุดคอคอดกระจะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าในทุกด้าน กลายเป็นพี่ใหญ่ในอาเซียน ทำให้รัฐบาลนี้ไม่เสียของ และถ้าทำสำเร็จ คลองนี้อาจถูกเรียกว่า คลองประยุทธ์ เพราะจะติดปากคนไทยทั้งประเทศ โดยหนังสือฉบับนี้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับไว้วันที่ 11 เม.ย.2559

 

 

 

สำหรับเอกสารศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) ของวุฒิสภา ระบุไว้ว่า เส้นทางขุดคลองไทย หรือแนว 9A ไม่ใช่คอคอดกระ แต่เป็นพื้นที่ต่ำลงมาผ่าน จ.กระบี่ จ.ตรัง จ.พัทลุง จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา เพื่อเชื่อมระหว่างฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ความยาว 120 กิโลเมตร ลึก 35 - 40 เมตร ลักษณะเป็นคลองคู่ขนาน

การศึกษาพบว่าเส้นทางนี้มีความเหมาะสมหลายด้านทั้งการเป็นศูนย์กลางระหว่างเมียนมาและสิงคโปร์ ไม่ชิดชายแดนมาเลเซีย ลดระยะการเดินทางได้ 700 กิโลเมตร หรือกว่า 40 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการผ่านช่องแคบมะละกา มีโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งน้ำจืดรองรับ มีการศึกษาความหนาแน่นของประชากร และความคิดเห็นของประชาชนบางส่วน แต่ข้อเสีย คือระยะทางไม่ได้สั้นที่สุด เมื่อเทียบกับ 12 เส้นทางที่มีการศึกษา เส้นทางพาดผ่านเทือกเขาใน จ.นครศรีธรรมราช และอาจจะต้องคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะต้องผ่านป่าพรุ และพื้นที่ทางธรรมชาติ

แผนในการพัฒนายังคิดที่จะนำดินจากการขุดคลองมาทำเกาะเทียม 2 แห่ง โดยเกาะเหนือ ฝั่งอ่าวไทย จ.สงขลา มีเป้าหมายทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเกาะใต้ ฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ มีแนวคิดทำเป็นท่าเรือน้ำลึกและการขนส่งทั้งนี้ ยังมีแนวคิดในการจัดทำโคงสร้างเพื่อการคมนาคม เป็นสะพาน เชื่อม 2 ฝั่ง จำนวน 4 สะพาน และอีก 5 อุโมงค์ในอาเซียน มีช่องแคบมะละกา เป็นช่องแคบที่สั้นที่สุดในอาเซียน ร้อยละ 90 เป็นเรือเดินสมุทร และมีการขนส่งน้ำมันในอันดับที่2ของช่องแคบสำคัญๆ มีมูลค่าการค้าร้อยละ 15-20 ของการค้าโลก

ดังนั้น การทำคลองไทย เพื่อร่นระยะการเดินเรือในแถบอาเซียน นอกจากหลายประเทศ สนใจเข้ามาลงทุนแล้ว ประเทศที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดน่าจะเป็นประเทศจีน ที่จะได้ประโยชน์จากการขนส่งน้ำมัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง