เฟซบุ๊กเปิดฟีเจอร์ใหม่อนุญาตให้ไลฟ์ได้ 24 ชม. หวั่นอนาคตกระทบวงการทีวีแน่

Logo Thai PBS
เฟซบุ๊กเปิดฟีเจอร์ใหม่อนุญาตให้ไลฟ์ได้ 24 ชม. หวั่นอนาคตกระทบวงการทีวีแน่
เฟซบุ๊กโชว์ลูกเล่นใหม่ล่าสุด เปิดทดลองให้ไลฟ์ได้ 24 ชม. กับฟีเจอร์ “คอนตินิวอัส ไลฟ์ วิดีโอ” เอื้อกลุ่มสื่อมวลชน-ถ่ายทอดรายการลิขสิทธิ์ แถมจำกัดกลุ่มผู้ชมได้ แต่มีจุดอ่อนไม่สามารถดูย้อนหลังเหมือนการไลฟ์แบบธรรมดา

วันนี้ (31 พ.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า เว็บไซต์แบรนด์ บัฟเฟต www.brandbuffet.in.th ได้เผยแพร่บทความ โดย นายสมคิด เอนกทวีผล รายงานถึงลูกเล่นใหม่ล่าสุดของเฟซบุ๊ก ไลฟ์ (Facebook Live) ที่ผู้ใช้บริการสามารถถ่ายทอดภาพวิดีโอสดได้ตลอด 24 ชม. หรือฟีเจอร์ “คอนตินิวอัส ไลฟ์ วิดีโอ” (Continuous Live Video) จากเดิมที่อั้นโควต้าอยู่ที่ 90 นาที

ลองเล่นลองชม Facebook Live ผ่านโทรศัพท์มือถือกันมาพักใหญ่ ทั่วๆ ไปแล้วก็ไม่มีใครใช้ถึงโควตา 90 นาที (1 ชั่วโมงครึ่ง) ที่ลิมิตไว้ ยกเว้นแต่รายการทีวีบางรายการหรือวิทยุบางช่อง ซึ่งเริ่มรู้สึกว่าโควตา 90 นาที ที่ห้าม Live เกินนี้เป็นอุปสรรคต่อการออกอาอาศ

ฉะนั้นทาง Facebook จึงเปิดตัวระบบ Facebook Live แบบใหม่ที่ออนแอร์ได้ 24 ชั่วโมง ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ดูทั้งได้วันทั้งคืน แต่ต้องใช้ระบบเฉพาะที่ชื่อว่า “Continuous Live Video” ซึ่งไม่ใช่แอปพลิเคชั่นหรือโปรแกรมทั่วไป แต่เป็นเอพีไอ (Application Programming Interface) ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคการพัฒนาซอฟต์แวร์และเครื่องไม้เครื่องมือระดับหนึ่ง และที่สำคัญคือต้องให้ทาง Facebook สำนักงานใหญ่อนุญาตเปิดให้ใช้ด้วย

ฉะนั้น ช่วงแรกนี้จึงมีแค่สื่อในสหรัฐอเมริกาบางรายได้ทดลองออกอากาศ 24 ชั่วโมง ผ่าน Facebook Live นั่นคือเว็บไซต์ Explore.org ที่ใช้ในการถ่ายทอดสดชีวิตของเหยี่ยว Bald Eagle แบบเรียลลิตี้ธรรมชาติ 24 ชั่วโมงทั้งวันทั้งคืน ซึ่งทางเฟซบุ๊กก็ได้ใช้รายการนี้เป็นที่ทดสอบระบบไปด้วย

และในอนาคตอันใกล้ “Continuous Live Video” ก็จะทยอยถูกเปิดให้ใช้กับสถานีข่าว 24 ชั่วโมง, การถ่ายทอดสดกีฬายาวๆ ที่เกิน 90 นาที, ช่องเคเบิลทีวีที่มีทั้งวันทั้งคืน ฯลฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ก็มีจุดอ่อนคือ จะไม่สามารถดูย้อนหลังได้แบบ Facebook Live ธรรมดาๆ ที่คนทั่วไปเล่นอยู่ทุกวันนี้ ที่พอจบแล้วก็ยังมีให้ดูย้อนหลังได้ตลอดบน Wall ของคนหรือเพจผู้โพสต์

นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังเพิ่มเครื่องมือ “Geogating” ควบคุมว่าใครจะมีสิทธิได้ดูการออกอากาศ 24 ชั่วโมง นี้บ้าง เช่น เลือกเฉพาะคนที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ถึงจะรับชมได้ ซึ่งจะใช้ประโยชน์ได้กับการซื้อลิขสิทธิ์รายการ เช่น บริษัท A ซื้อสิทธิ์บอลยูโร 2020 มาสำหรับยิงสดในไทยเท่านั้น ก็ใช้ Geogating กำหนดว่ามีแต่คนในไทยที่ดูได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ Geogating ยังใช้เลือกอายุผู้ชมได้ด้วย ซึ่งอาจจะเหมาะกับช่องหนังบางประเภท!
หากวันไหนที่ “Continuous Live Video” 24 ชั่วโมงนี้แพร่หลาย และมีคุณภาพเสียงชัด ภาพคม ล่ะก็ …เชื่อว่าบางประเทศอาจจะตั้งคำถามกันว่า “แล้วนี่จะประมูลทีวีดิจิตอลกันไปทำไม?” กันเลยทีเดียว

และแถมท้ายสำหรับ Facebook Live ธรรมดาเดิมๆ 90 นาที คือ เฟซ บุ๊กยังแถมเครื่องมือใหม่ให้ ชื่อ “engagement graphs on Live video replays” ไว้ดูกราฟว่าการ Live สมมติว่ายาว 20 นาที ที่เราเพิ่งยิงจบไปนั้น ช่วงนาทีไหนมีคนดูกี่มากน้อย ช่วงนาทีไหนมีคนกด Like กดหัวเราะ หรือกด React อะไรกันกี่คน ซึ่งนักการตลาดหรือผู้ผลิตรายการรวมถึงศิลปินทั้งหลายคงนำไปใช้ประโยชน์ได้ในการดูว่าช่วงไหนคนชอบ ช่วงไหนโดนใจ ฯลฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง