ปลัดฯดอดพบแกนนำต้านโรงไฟฟ้าเทพา ชวนให้ไปพบผู้ว่าฯสงขลาพรุ่งนี้

สิ่งแวดล้อม
31 พ.ค. 59
19:23
301
Logo Thai PBS
ปลัดฯดอดพบแกนนำต้านโรงไฟฟ้าเทพา ชวนให้ไปพบผู้ว่าฯสงขลาพรุ่งนี้

วันนี้ (31 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออกไลน์รายงานว่า ที่หมู่ 4 บ้านปากบาง อ.เทพาจ.สงขลา นางรอกีเย๊าะ สะมะแอ เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปิดเผยว่า วันนี้เวลาประมาณ 16.00 น. นายชูศักดิ์ สาระมุณี ป้องกันจังหวัดสงขลา และนายพีรวัส ณ ตะกั่วทุ่ง ปลัดอำเภอเทพา พร้อมคนขับรถ 2 คน เดินทางมาพบที่บ้าน

นางรอกีเย๊าะเปิดเผยว่า เมื่อพบหน้ากันนายพีรวัสบอกว่าเดินทางมาในนามผู้ว่าฯ สงขลา พร้อมกับสอบถามว่าต้องการอะไรบ้าง และที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีเหตุผลอะไร ตนจึงถามกลับไปว่าทำไมผู้ว่าฯ สงขลาจึงไม่ตอบจดหมายที่ชาวบ้านส่งไปสอบถามเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวถึง 2 ครั้ง ซึ่งปลัดอำเภอระบุว่า ช่วงที่ชาวบ้านไปยื่นหนังสือผู้ว่าฯอาจจะไม่อยู่ จากนั้นบอกกับตนว่า หากต้องการพบผู้ว่าฯ สงขลาให้ไปในวันที่ 1 มิ.ย. ซึ่งก็ก้ไม่รับปาก พร้อมกับบอกว่าต้องปรึกษาเครือข่ายฯ ก่อน ทั้งสองจึงเดินทางกลับ

นางรอกีเย๊าะกล่าวว่า กว่า 2 ปี ที่มีการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทางเครือข่ายฯ มีการตั้งคำถามและส่งหนังสือไปยังอำเภอจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายครั้ง แต่ไม่เคยได้รับคำอธิบาย หรือชี้แจงใดๆ เหตุผลที่ต้องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะเกิดกระทบต่อคนในพื้นที่และใกล้เคียง เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีกำลังผลิต 2,200 เมกะวัตต์ ตั้งบนเนื้อที่ 2,960 ไร่ ริมทะเลต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ใช้ถ่านหินที่อ้างว่าสะอาดจากอินโดนีเซีย ซึ่งต้องเผาถ่านหินถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม หรือกว่า 1,000 รถ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของคนเทพา หาดใหญ่ สงขลา ปัตตานี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นมะเร็งและโรคเรื้อรังต่างๆ จากสารพิษที่รับเข้าไปในร่างกายต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปี

ประมงพื้นบ้านบ้านปากบางและใกล้เคียง ที่มีเรือประมงพื้นบ้านกว่า 300 ลำ จะทยอยล่มสลาย เพราะมีสัตว์ทะเลได้รับผลกระทบ ผลกระทบ จากบ่อเก็บขี้เถ้าถ่านหินขนาดกว่าพันไร่ แม้จะอ้างว่าปูด้วยแผ่นพลาสติกหนาไม่ให้น้ำซึมลงดิน แต่มรสุมและพายุฝนตกหนัก อาจทำให้บ่อเก็บเถ้าเกิดน้ำล้น เถ้าถ่านหินที่เต็มไปด้วยโลหะหนักและความสกปรกถูกชะลงสู่ผืนดิน แหล่งน้ำและท้องทะเล ท้องทะเลจะเป็นสีดำเหมือนที่มาบตาพุด และบ่อเก็บเถ้าจะอยู่อีกเป็นอีกเป็นร้อยปี แม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอายุใช้งาน 40 ปีจะปิดตัวลงไปแล้วก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต้องย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่กว่า 200กว่า ครัวเรือนจำนวน 1,000 คน ยังไม่นับชุมชนรอบข้าง ที่อาจต้องย้ายในอนาคต เพราะทนมลพิษไม่ไหว นี้คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ชัดเจน ก็ขอฝากไปถึงผู้ว่าฯ สงขลาให้ทราบว่า ทางออกของปัญหามีทางเดียวคือยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง