แนะคนไทยต้องปรับตัว-เข้าใจ “นักท่องเที่ยวจีน” ไม่ใช่ตามใจ แต่ตำหนิตามหลัง

สังคม
1 มิ.ย. 59
06:52
3,046
Logo Thai PBS
แนะคนไทยต้องปรับตัว-เข้าใจ “นักท่องเที่ยวจีน” ไม่ใช่ตามใจ แต่ตำหนิตามหลัง
ในความคึกคักของตัวเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นมา หากยืนอยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยว ทั้งประตูท่าแพ ไนท์บาซาร์ พระธาตุดอยสุเทพ และอีกหลายๆ แห่ง ถ้าเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวชาวจีนมีจำนวนมากกว่าชาติอื่น

เมื่อเดินไปตามริมถนนย่านท่องเที่ยว บริเวณประตูท่าแพ ที่มีร้านค้ารูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์สุ่มสำรวจพบว่า ร้านค้าตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านนวด บาร์เบียร์ ร้านเช่ารถจักรยานยนต์ บริษัททัวร์ ฯลฯ อยู่ในสภาพเงียบเหงา มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการน้อยมาก

สุภาพสตรีเจ้าของร้านนวดเท้ารายหนึ่ง ตอบคำถามถึงภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ (เม.ย.-พ.ค.) ว่า “บางวันแทบจะไม่มีคนเข้ามานวดเลย มีรายสองรายก็นับว่าดีแล้ว หรือให้พอกับจำนวนหมอนวดในร้าน เพราะจะต้องเสียค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟอีก”

เธอบอกว่า ค่าเช่าพื้นที่ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่นัก เท่าที่สังเกตด้วยสายตาเท่าห้องแถว อาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก 1 ห้อง ในราคาเกินหมื่นบาท ที่ต้องรับภาระร่วมกับเพื่อนหมอนวดด้วยกัน ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีน นับว่าเข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจร้านของเธอดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็มีค่าเช่ารายเดือน

อย่าว่าแต่นักท่องเที่ยวจีน ฝรั่งไม่ดีก็เยอะแยะ

“กระแสต้านนักท่องเที่ยวจีนก็ส่งผลกระทบเหมือนกัน แต่ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นบ้าง คนไม่ได้ดีไปทุกกลุ่มอยู่แล้ว และก็ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมดใช่มั้ย พวกฝรั่งทำอะไรไม่ดี มีเยอะแยะ แต่เราคิดว่า พวกนั้นดีกว่าเรา เราเลยไม่ไปว่าเขา พี่ดูเถอะถ้าเรื่องน่าเกลียด บางทีฝรั่งทำเรื่องน่าเกลียดกว่าคนจีนอีก”

เธอวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาติต่างๆ เปรียบเทียบให้เห็น พร้อมกับบอกว่า ในความเป็นจริง ประเทศไทยต่างหากที่ไม่มีกฎเกณฑ์ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวรู้สึกว่าที่นี่คือดินแดนเสรี ทำอะไรก็ได้ ทำให้หลายครั้งเป็นเรื่องเกินเลยเป็นผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสได้พบกับ มานพ แซ่เจีย ประธานชมรมมัคคุเทศก์รักษ์ล้านนา จ.เชียงใหม่ ขณะนำนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มใหญ่ชมความงดงามของพระธาตุดอยสุเทพ ได้พูดคุยถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นว่าจะมีผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบอย่างไรต่อประเทศไทย

มานพแสดงความเห็นว่า กลุ่มของนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาก็พยายามปรับตัว แต่การปรับตัวต้องให้เวลา ซึ่งในระยะเวลาไม่กี่ปีนี้ เขาก็ปรับตัวมาก เราต้องเข้าใจด้วยว่า จีนเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก มี 30 มณฑล ก็เหมือน 30 ประเทศไทย วัฒนธรรมของเขาเองก็แตกต่างกัน เมื่อเข้ามาเที่ยวบ้านเรา คนไทยก็อาจไม่คุ้นเคยที่นักท่องเที่ยวจีนมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ แต่หลังจากนี้คงเลี่ยงไม่ได้แล้ว นักท่องเที่ยว นักลงทุนชาวจีน คงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงที่เชียงใหม่ มากขึ้น ซึ่งคนไทยหรือนักลงทุนไทยก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน

“ต้องเข้าใจว่านักท่องเที่ยวจีน นักลงทุนจีน เราไม่สามารถไปเปลี่ยนเขาได้ในชั่วข้ามคืน ยกตัวอย่าง คนจีนพูดจาเสียงดัง เรานึกว่าเขาทะเลาะกัน จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ทะเลาะกัน แต่เป็นเพราะเขามีประชากรหนาแน่นมาก พูดเสียงเบาๆ ไม่ได้ยิน จึงพูดเสียงดังเป็นนิสัย แต่คนจีนไม่ได้ก้าวร้าว เท่าที่ผมสัมผัสมาในการทำอาชีพนี้ 30 ปี คนจีนเป็นคนน่ารัก และการพูดเสียงดัง ก็เหมือนการแสดงความจริงใจกับคนที่รู้จัก”

มองในแง่ดีเขามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย

มานพกล่าวว่า หากมองรวมกับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทยปีละ 7-8 ล้านคน นักท่องเที่ยวจีน มาเที่ยวแล้วยังใช้จ่ายในบ้านเรามากกว่า หากเปรียบเทียบกับนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปหรืออเมริกา ทุกวันนี้แม้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะเป็นช่วงขาลงจนต่ำที่สุดในรอบ 30 ปีก็ตาม แต่คนจีนก็ยังมาใช้จ่ายในบ้านเราได้ เพราะค่าครองชีพที่ประเทศจีนสูงกว่าเมืองไทยหลายเท่า สินค้าแบบเดียวกัน ในจีนราคาสูงกว่าของเรา 3 เท่า ไม่ว่าเสื้อผ้าแบรนด์เนมต่างๆ กางเกงยีนส์ ชุดชั้นในต่างๆ ของเขาแพงกว่าเราประมาณ 2-3 เท่าขึ้นไป จึงเป็นเรื่องปกติที่เขามีกำลังซื้อกำลังจ่าย ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงก็ตาม

“ส่วนที่คนไทยมีกระแสต่อต้านนักท่องเที่ยวชาวจีน เกิดจากสื่อโซเชียลมีเดีย ใน 2-3 ปีนี้ ที่โพสต์ทั้งข้อความและภาพของนักท่องเที่ยวชาวจีนในแง่ลบ ทำให้คนไทยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเลย หรือคิดว่าตัวเองไม่มีส่วนได้เสียอะไร เมื่อเห็นกระแสข่าวแบบนี้ ก็เริ่มมีความรังเกียจนักท่องเที่ยวชาวจีนไปโดยปริยาย ซึ่งผมอยากให้พี่น้องคนไทยได้ทราบข้อเท็จจริงว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวที่เลวร้ายอย่างที่คิดเลย” มานพกล่าว

อย่างไรก็ตามแม้มานพจะอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างนักท่องเที่ยวชาวจีนกับชาติอื่นๆ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยได้รับก็ตาม แต่ยังมีคนไทยจำนวนมาก ไม่ลดทัศนคติเชิงลบต่อนักท่องเที่ยวจีน เห็นได้จากการโพสต์ข้อความ ภาพถ่าย คลิป ฯลฯ การแย่งอาหารในโรงแรมขนาดใหญ่ การพูดจาส่งเสียงดัง การแย่งซื้อข้าวของ เป็นต้น ซึ่งบางภาพเป็นภาพเก่าแล้วก็ตาม

กลุ่มที่เป็นข่าวส่วนใหญ่คือพวกที่มาเที่ยวเอง

เมื่อสอบถามมานพในฐานะมัคคุเทศก์ว่า มีทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร นักท่องเที่ยวจีนควรจะปรับพฤติกรรมหรือคนไทยเองควรจะปรับทัศนคติมากกว่ากัน

“นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวกับบริษัทท่องเที่ยว มักไม่ได้สร้างปัญหาอะไรอย่างที่เป็นข่าวที่เราเห็น ส่วนมากที่เป็นข่าวมักจะเป็นกลุ่มที่มาเที่ยวกันเอง หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ ก็ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ตัวเลขของนักท่องเที่ยวจีนคร่าวๆ แยกเป็น 60 เปอร์เซนต์ เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเอง และ 40 เปอร์เซนต์ เป็นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวกับทัวร์มีมัคคุเทศก์คอยให้ข้อมูลซึ่งกลุ่มนี้แทบไม่มีปัญหาหรือมีน้อยมาก ส่วนกลุ่มที่มาเที่ยวกันเองไม่มีมัคคุเทศก์แนะนำ ทำให้มีบางคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปทำเรื่องที่ไม่ควรทำ หรือไม่เหมาะสม ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วเป็นอัตราที่น้อยมาก หากเทียบกับอัตรานักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณ 8 ล้านคน กับค่าเฉลี่ยที่ไปสร้างปัญหาถือว่าน้อยมาก ถ้าเทียบกับนักท่องเที่ยวยุโรปหรืออเมริกาในอัตราสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งมีกิริยาที่ไม่ดีเหมือนกัน แต่เราไปมองแต่นักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนยุโรป อเมริกา เรามองว่าทำอะไรก็ดีทุกอย่าง”

เมื่อถามถึงอนาคตของเชียงใหม่ กับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงหากมีการตอบสนองต่อการท่องเที่ยวมากขึ้น มานพบอกว่า สิ่งแรกที่เปลี่ยนแปลงตอนนี้และคนเชียงใหม่อาจจะไม่รู้ตัวคือ “ปัจจุบันนี้เชียงใหม่มีเครื่องบินขึ้นลง 24 ชั่วโมง จากเมื่อก่อนไม่ได้บินทั้งคืน แต่ตอนนี้มีเครื่องบินจากจีน ส่วนใหญ่จะเข้ามาหลังเที่ยงคืน และต่อไปจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ซึ่งในอนาคตเชียงใหม่อาจจะต้องมีสนามบินอีกแห่งหรือไม่”

ถ้าเชียงใหม่เปลี่ยนจะยังมีคนมาเที่ยวไหม

ส่วนผลกระทบทางวัฒธรรมของเชียงใหม่ที่เคยเป็นเมืองเก่า แต่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนเชียงใหม่ต้องปรับตัวหรือทำอย่างไรเพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้ มานพแสดงความเห็นว่า คงเปลี่ยนแปลงในเวลาอันรวดเร็วในไม่กี่ปีนี้ ซึ่งเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ เปลี่ยนไปนานแล้ว แต่เมืองนี้เดิมมีเอกลักษณ์ ทั้งศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของคนล้านนา

“หลังจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถามว่า เรายังจะสามารถรักษาเอาไว้ได้หรือไม่ การที่รักษาไม่ได้ จะเป็นตัวทำลายการท่องเที่ยวของเชียงใหม่หรือเปล่า เดิมเขามาเพราะชอบความเป็นเชียงใหม่ ตึกสูงต่างๆ ของเชียงใหม่ก็น้อย ซึ่งเราจะยังรักษาเมืองเชียงใหม่ที่มีเอกลักษณ์พิเศษไว้ได้แค่ไหน ถ้ารักษาไม่ได้ ก็ยังตอบโจทย์นี้ไม่ได้ว่า กลุ่มที่เคยชอบเชียงใหม่ เขาจะชอบอยู่ไหม”

ขณะที่ นนท์ หิรัญเชรษฐ์ เลขาธิการการค้าอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่-ลำพูน มองว่า สภาวัฒนธรรมเชียงใหม่ควรมีบทบาทให้มากขึ้นกว่านี้ในการรักษาจารีตประเพณีวัฒนธรรมของเชียงใหม่ เพราะนับวันเชียงใหม่จะมีประชากรที่มาจากต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัย จนกลืนวัฒนธรรมดั้งเดิมของเชียงใหม่ไปมากแล้ว ฉะนั้นการที่สภาวัฒนธรรมไม่รีบทำความเข้าใจกับคนในท้องถิ่น ให้ช่วยกันรักษาประเพณีวัฒนธรรม ไม่นานมนต์เสน่ห์ของเชียงใหม่จะหายไป และเมื่อถึงวันนั้น เชียงใหม่จะไม่ต่างอะไรกับกรุงเทพฯ และจะเกิดปัญหาความแออัด

“ถามว่าเมื่อถึงวันที่เชียงใหม่เปลี่ยนแปลงไป นักท่องเที่ยวยังต้องการมั้ย เขาก็จะไม่มาแล้ว จะเลือกไป จ.น่าน แพร่ หรือจังหวัดที่มีธรรมชาติ เช่น เชียงราย ตอนนี้กำลังเติบโตมาก หากไม่มีจัดการ ในอนาคตปัญหาเกิดขึ้นแน่ เพราะอย่าลืมว่า ความเจริญจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ไม่มีความเจริญที่ไหนที่เข้ามาแล้วไม่เปลี่ยนแปลง มันต้องเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น ทั้งคน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณี ความเป็นอยู่”

อย่างไรก็ตามแม้สภาพเมืองเชียงใหม่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา โดยเฉพาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ค่อนข้างมีอิทธิพลมากกับคนท้องถิ่นอย่างชาวจีน แต่คนเชียงใหม่ก็ปรับตัวเพื่อรับกับสิ่งนี้ได้มากขึ้น

คนไทยเริ่มเข้าใจและปรับตัวเหมือนกัน

นนท์ระบุว่า “ทุกวันนี้คนเชียงใหม่ ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมของคนจีนมากพอสมควร เพราะอาศัยเศรษฐกิจซึ่งเขามาช่วยพยุงเรา ฉะนั้นหนักนิดเบาหน่อย เราก็จะไม่ถือโทษโกรธเขา เพราะเราเข้าใจว่านั่นเป็นวัฒนธรรมของเขา แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คนไทยกับคนจีนทะเลาะกันมาก จนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา มาระยะหลัง คนท้องถิ่นเข้าใจ อย่างเห็นร้านอาหารคนจีนนั่งเสียงดัง คนไทยเข้าใจ เพราะรู้ดีว่า ตัวเลขการท่องเที่ยวของจีนที่เข้ามาเชียงใหม่ เป็นอันดับหนึ่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อะไรเหล่านี้ถ้าไม่ได้นักท่องเที่ยวจีน แทบจะอยู่ไม่ได้เลย โดยเฉพาะช่วงที่การเมืองเราไม่นิ่ง เราได้จีนมาช่วยไว้ ฉะนั้นคนไทย โดยเฉพาะคนท้องถิ่นจึงเกิดความเข้าใจว่า คนจีนมาช่วยเรา ซึ่งตรงนี้ก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน”

แต่แม้ว่ากลุ่มคนจีนจะเข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายในเชียงใหม่มากก็ตาม แต่สิ่งที่ นนท์ยังแสดงความกังวลอยู่ก็คือ การรุกคืบเข้ามาครอบครองกิจการบริการหลายอย่าง นนท์เล่าว่า ปัจจุบันธุรกิจนวดแผนโบราณจำนวนมากมีชาวจีนเป็นเจ้าของ แต่มีลูกจ้างเป็นคนไทย ผู้ที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจีน ที่มากับกรุ๊ปทัวร์ โดยนักธุรกิจจีนเหล่านี้จะเข้ามาในรูปนักท่องเที่ยว ก่อนจะหาลู่ทางลงทุนร่วมกับคนไทย และครอบครองกิจการทั้งหมดในชื่อคนไทยหรือหุ้นส่วนกัน ทั้งธุรกิจนวดแผนโบราณ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ

ไทยต้องรับมือและเตรียมแก้ปัญหาหลายเรื่อง

ขณะที่มุมมองของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนักท่องเที่ยวจีน อย่าง ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มองกรณีนักท่องเที่ยวชาวจีนว่า ผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจอาจจะสูงมาก เพราะว่าในขณะที่ประเทศเราเศรษฐกิจชะลอตัว เราก็มีนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้นที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้หมุนไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นในทางเศรษฐกิจคิดว่าสูง

ส่วนในระยะยาวเริ่มมีปัญหาจาก 1.ปัญหาความไม่พร้อมด้านสาธารณูปโภค ในการรองรับ เช่น การกำจัดน้ำเสีย เรื่องขยะ ทรัพยากรธรรมชาติของเราจะเสื่อมโทรมลงไป ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็จะเริ่มสูงขึ้น และยังมีผลกระทบทางสังคมอีก

“เมื่อคนจีนเข้ามามาก เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในฮ่องกงคือ เกิดความแออัดคนฮ่องกงไปไหนไม่ได้ เพราะคนจีนเต็มไปหมด จะไปส่งลูกที่โรงเรียนรถก็ติด คนท้องถิ่นก็อาจจะเกิดความไม่พอใจ เกิดทะเลาะกันระหว่างจีนที่เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวกับจีนที่เป็นนักท่องเที่ยว และเนื่องจากความไม่พร้อมของเรา เราไม่มีคนพูดภาษาจีน เจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาจีนมีน้อยมาก ผู้ประกอบการพูดภาษาจีนก็น้อย ชาวจีนก็ต้องพาคนของเขาเข้ามา ตอนนี้คนจีนมาทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เยอะแยะไปหมด ไม่เหมือนฝรั่ง ที่เขาจะมาลงทุนในกิจกรรมใหญ่ๆ ที่ไม่มีคนไทยทำ แต่คนจีนจะมาลงทุนในทุกระดับ ตั้งแต่ร้านบะหมี่ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านค้าแบกะดิน ไปจนถึงโรงแรมระดับ 5-6 ดาว มูลค่า 5-6 พันล้านบาท ปัญหาก็จะยิ่งเกิดขึ้น”

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์กล่าวว่า เพราะฉะนั้นการรับมือกับชาวจีน จึงเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย เพราะเขาลงมาทุกหย่อมหญ้า จึงเริ่มมีการเปรียบเทียบกัน เกิดความไม่พอใจขึ้นมา ว่าคนจีนมาหาเงิน แย่งเราทำมาหากิน มาแย่งเราใช้ทรัพยากร อย่างภูเก็ตสถิตินักท่องเที่ยวเยอะมาก แต่โรงแรมไม่เต็ม เพราะเขาไปอยู่คอนโดมิเนียมกัน เขาไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่เราเตรียมไว้ เขามาเบียดเบียนใช้ทรัพยากรของคนท้องถิ่น ต่อไปนี้จะขึ้นรถลงเรือไปเหนือล่องใต้ ก็จะมีคนจีนเต็มไปหมด เราจองตั๋วไม่ได้ มันก็จะมีปัญหา เพราะว่าเราไม่พร้อม เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดว่าคนจีนจะมา เราต้องเตรียมความพร้อม เพื่อให้เราได้ประโยชน์มากๆ

“เราต้องดีไซน์การท่องเที่ยวของเรา ให้เป็นการท่องเที่ยวมีจิตใจเมตตา กรุณา อ่อนโยน เป็นมิตรกับเขา แต่เคร่งครัดในกติกาของเรา ต้องบอกเขาว่า ถ้าคุณจะมาเที่ยวประเทศของเรา คุณต้องทำตามระเบียบของเรา”

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง