สธ.ตรวจสุขภาพ-ขึ้นทะเบียนคนเก็บขยะ 8 จังหวัดนำร่อง พบเสี่ยงเจ็บป่วยจากสารเคมีตกค้าง

สังคม
5 มิ.ย. 59
13:44
695
Logo Thai PBS
สธ.ตรวจสุขภาพ-ขึ้นทะเบียนคนเก็บขยะ 8 จังหวัดนำร่อง พบเสี่ยงเจ็บป่วยจากสารเคมีตกค้าง
กรมควบคุมโรคจับมือ 8 จังหวัดนำร่อง ขึ้นทะเบียน-ตรวจสุขภาพผู้ประกอบอาชีพเก็บขยะ เน้นกลุ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์อันตรายที่มีกว่า 20,000 คน ใน 3 จังหวัดภาคอีสาน หลังพบเสี่ยงติดเชื้อ-สารเคมีตกค้างในร่างกาย เช่น ตะกั่ว สารหนู และปรอท

วันนี้ (5 มิ.ย. 2559) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย. ปีนี้ ทางกรมควบคุมโรคได้ดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพ จากการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ กับ 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จ.สมุทรปราการ จ.นครศรีธรรมราช จ.กาญจนบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ขอนแก่น จ.บุรีรัมย์ จ.กาฬสินธุ์ และจ.อุบลราชธานี ภายใต้การรณรงค์ "เก็บขยะ เก็บชีวิต อย่าคิดเสี่ยง" หลังประเทศไทยเผชิญปัญหาขยะตกค้างทั่วประเทศมากถึง 14.8 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นขยะอันตรายอย่างขยะอิเล็กทรอนิกส์ กว่า 3.7 แสนตัน

“ผู้ที่คัดแยกขยะมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค หรือการเจ็บป่วยจากการทำงานในทุกๆ ด้าน ทั้งยังพบว่าหลายพื้นที่ผู้ประกอบอาชีพเก็บขยะ มีปัญหาสุขภาพจากขยะติดเชื้อ และสารเคมีตกค้างในร่างกาย เช่น สารตะกั่ว สารหนู ปรอท โดยเฉพาะชุมชนที่ประกอบอาชีพรับซื้อและคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ใน 3 จังหวัด คือ จ.บุรีรัมย์ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.อุบลราชธานี พบว่าประมาณ 2 หมื่นคน มีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง” อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ

นพ.อำนวยกล่าวต่อว่า เบื้องต้นได้บริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพเพื่อจัดทำทะเบียน และให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง เช่น การทำแผล ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ทั้งนี้ หากประชาชนสงสัยว่าได้รับมลพิษจากขยะ เช่น ควันจากการเผาไหม้ จนมีอาการ ปวดศีรษะ มึนงง แสบตา คันตา ผื่นคันตามร่างกาย คัดจมูก มีน้ำมูกโดยที่ไม่มีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง