คนดังกับความเสี่ยงโดนกลั่นแกล้งผ่านโลกเสมือนจริง Cyber bullying

ศิลปะ-บันเทิง
6 มิ.ย. 59
15:04
3,401
Logo Thai PBS
คนดังกับความเสี่ยงโดนกลั่นแกล้งผ่านโลกเสมือนจริง Cyber bullying
ล้อเล่นกับกลั่นแกล้งบางทีมีเส้นบางๆ คั่นอยู่ เพราะเมือไหร่ที่ผู้ถูกล้อไม่ชอบใจก็อาจจะไม่สนุกด้วย ยิ่งในยุคออนไลน์ การล้อเลียนในโลกไซเบอร์ยิ่งขยายวงกว้างและไร้การควบคุม โดยกลุ่มคนดังทั้งนักร้อง-นักแสดง ถือว่ามีความเสี่ยงในการถูกล้อเป็นอันดับต้นๆ

วันนี้ (6 มิ.ย. 2559) โดนหยอกนิด ล้อหน่อย ผ่านโลกโซเชียลแม้เป็นเรื่องธรรมดาของคนดัง แต่บางครั้งก็อดจี๊ดไม่ได้ เพราะนักท่องโซเชียลหลายรายไม่ได้ล้อเลียนแค่ผลงาน แต่ลามไปถึงเรื่องส่วนตัวอย่างรูปร่างและบุคลิก

"คนที่โดนล้อเล่นแล้วเห็นเป็นเรื่องตลก ไม่อ่อนไหว ยินดีด้วยครับ" เป็นคำตอบของ รัตน จันทร์ประสิทธิ์ หรือ นะ นักร้องนำวงดังโพลีแคต ที่ชัดเจนว่าไม่ขำกับการล้อเล่นผ่านโลกโซเชียล ถือเป็นกรณีดังหลังถูกตัดต่อภาพเทียบใบหน้ากับเน็ตไอดอลเน้นฮา แม้นักร้องดังแสดงความไม่สบายใจ แต่ยังมีชาวเน็ตบางส่วนระดมแชร์ภาพล้อเลียนให้เจ้าตัว โดยอ้างว่าบุคคลสาธารณะต้องยอมรับการล้อเล่น เป็นที่มาของการวิพากษ์เรื่องขอบเขตมารยาทในการแซวดารา กับการกลั่นแกล้งผ่านโลกเสมือนจริง หรือ Cyber Bullying ที่พูดถึงกันอยู่ในขณะนี้

วรินดา เขียวสลับ หรือดีเจดาด้า นักจัดรายการวิทยุ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนเคยโดนล้อว่าเหมือนนักร้องลูกทุ่งอาภาพรเพราะรูปร่าง ส่วนตัวขำๆ แต่ไม่ใช่กับทุกคนแล้วแต่คน ถ้าคนล้อเขาไม่ขำก็ไม่ใช่

ซึ่งต่างจาก กนกฉัตร มรรยาทอ่อน หรือ ไต้ฝุ่น เคพีเอ็น ที่ระบุว่า เป็นคนดังก็คงเลี่ยงไม่ได้
แม้คนดังจะเป็นเป้าโจมตีในการล้อเลียนได้มากกว่าด้วยเหตุผลเป็นคนสาธารณะ แต่บางคนกลับมีภูมิต้านทานพอเพราะต้องพร้อมตั้งรับทุกความคิดเห็นในชีวิตจริงอยู่แล้ว แต่ปัญหา Cyber bullying ที่เกิดกับคนทั่วไปยังน่าเป็นห่วง

โดยเทเลนอร์กรุ๊ปผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารสำรวจพบว่า มีเด็กและเยาวชนกว่าร้อยละ 30 ยอมรับว่าเคยถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ที่น่าแปลกใจคือคนเหล่านั้นแทบไม่รู้จักกันในชีวิตจริง ทั้งนี้ แม้ปัญหา Cyber bullying ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองโดยเฉพาะ แต่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สะท้อนทัศนคติของสังคมไทย

สิริพงศ์ สุขสมนาค หรือ กิ๊ฟ โคกคูน ศิลปินตลก บอกว่า วัฒนธรรมของคนไทยชอบตลกสังขาร เล่นที่ไหนก็ฮา อย่างการล้อเลียนรูปร่างก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา

ไม่ต่างจาก จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย แสดงทัศนะว่า เมืองไทยเราล้อเลียนกันจนเป็นเรื่องปกติ เลยไม่มีข้อกฎหมายออกมาเพราะเกิดมากับธรรมเนียมล้อเล่น แต่ประเด็นคือมันทำร้ายจิตใจคนอื่น

การกลั่นแกล้งรูปแบบเดิมๆ ที่กระทำซึ่งหน้า เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีการสื่อสารและก้าวเข้าสู่การกลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์ จากความสนุกกลายเป็นการประจานที่ยากจะควบคุม เพราะตราบเท่าที่โลกออนไลน์ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนยุคใหม่ นั่นเท่ากับว่าทุกคนอาจกลายเป็นผู้ถูกกระทำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง