การลอกเลียนผลงานในวงการดนตรี

Logo Thai PBS
การลอกเลียนผลงานในวงการดนตรี
ด้วยข้อจำกัดเรื่องบันไดเสียงที่มีโน้ตเพียง 7 ตัว และแนวเพลงที่ซ้ำกัน อาจเป็นข้ออ้างให้บทเพลงมีความคล้ายคลึงกันได้ แต่ในปัจจุบันยังมีกรณีก็อปปี้ทำนองเพลงต่างประเทศมาใส่เนื้อร้องภาษาไทย

ภาพแสดงสดของ The Two Door Cinema Club วงร็อคจากไอร์แลนด์ ในเพลง What you know ซิงเกิ้ลฮิตปี 2010 ของตัวเองแต่นักร้องนำ อเล็กซ์ ทริมเบิล กลับร้องออกมาเป็นภาษาไทย คืออารมณ์ขันชาวเน็ตที่ล้อเลียนความเหมือนระหว่างเพลงฮิตของศิลปินต่างประเทศกับวงดนตรีไทย ที่แทบจะเป็นการนำมาใส่เนื้อเพลงใหม่เท่านั้นกลายเป็นดราม่าในวงการดนตรี จนวอร์เนอร์มิวสิค ต้นสังกัดของ The Two Door Cinema Club ต้องออกมาระงับการเผยแพร่เพลงดังกล่าวและเตรียมร่างข้อตกลงระหว่างค่ายเพลงกับวงดนตรีไทยคู่กรณี เพราะกลัวว่าการนำทำนองเพลงไปใช้โดยไม่รับอนุญาตจะส่งกระทบกับศิลปินเจ้าของเพลง กรณีที่เกิดขึ้นยังเป็นบทเรียนว่า แม้ในอดีตวงการดนตรีจะเคยมีการนำทำนองต่างประเทศมาใช้อย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่แฟนเพลงยอมรับไม่ได้

กรณีที่เกิดขึ้นยังตามมาด้วยกระแสตรวจสอบผลงานนักร้องนักดนตรีไทยในยุคนี้ ซึ่งหลายเพลงมีความคล้ายคลึงกับเพลงต่างประเทศไม่น้อยทั้ง แพ้ทาง ของวงร็อคยอดนิยม ลาบานูน ที่ไปคล้ายกับผลงานศิลปินเลบานอน Maher Zain หรือเพลงชาตินี้ไม่เสียชาติเกิดที่ไปคล้ายกับผลงานดีว่าระดับโลก อเดล ในมุมของคนเบื้องหลังมองว่าบทเพลงสามารถมีความคล้ายคลึงกันได้โดยไม่เจตนา ด้วยสไตล์ดนตรีและบันไดเสียงที่มีจำกัด แต่ถ้าฟัง เมโลดี้ แล้วเหมือนกันเกิน 4 ห้องดนตรี เชื่อได้ว่าผู้แต่งมีเจตนาลอกผลงานของศิลปินคนอื่นอย่างโต้แย้งไม่ได้

ในวงการเพลงต่างประเทศ มาตรฐานเรื่องการลอกเลียนผลงานจะยิ่งละเอียดอ่อน แค่มีส่วนประกอบใดในบทเพลงที่ทำให้คิดถึงเพลงต้นฉบับ ก็อาจถูกฟ้องร้องได้ เช่นที่เกิดกับเพลง Blurred line ผลงานของ โรบิน ธิค นักร้องชาวอเมริกันที่จังหวะดนตรีไปคล้ายกับเพลง Got to Give It Up ของ มาวิน เกย์ จนแพ้คดีฟ้องร้องมูลค่าถึง 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ที่สุดหลายเพลงจะไม่มีคนจับได้ หรือไม่มีการดำเนินคดี หากคนเบื้องหลังเองก็รู้ดีที่สุดว่าผลงานที่แต่งขึ้น มาจากแนวคิดของตัวเองหรือลอกเลียนมาจากผลงานของศิลปินคนอื่น

 

ฐาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง