พลิกปมข่าว : “โครงสร้างแข็ง” ทางตันแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

สิ่งแวดล้อม
14 มิ.ย. 59
21:52
1,176
Logo Thai PBS
พลิกปมข่าว : “โครงสร้างแข็ง” ทางตันแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
ที่ผ่านมาภาครัฐก่อสร้างเขื่อนริมทะเลเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยกว่า 900 โครงการ ด้วยงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท แต่ผลกระทบก็ยังเพิ่มขึ้น ขณะที่บางส่วนของชายหาดได้หายไป ชัดเจนว่าโครงสร้างแข็งแบบนี้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

วันนี้ (14 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาภาครัฐมักใช้โครงสร้างเขื่อนริมทะเลแก้ปัญหา ทั้งที่กฎหมายมีช่องว่างทำให้ยากต่อการควบคุม ฟากหน่วยงานที่รับผิดชอบส่วนมากทำงานแบบต่างคนต่างทำ หนำซ้ำยังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มที่ต้องการสร้างและกลุ่มที่เห็นต่าง เช่น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแนวชายฝั่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์

โครงสร้างแข็ง เช่น เขื่อน หรือการทิ้งแท่งซีเมนต์ตามแนวหาด ส่งผลให้คลื่นเปลี่ยนทิศทางจากเดิม ทำให้พื้นที่ที่ถัดออกมาจากจุดที่มีโครงสร้างแข็งถูกกัดเซาะมากขึ้น ขณะนี้ ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน 3,148 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 700 กิโลเมตร
นายศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการอิสระด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล บอกว่า โครงสร้างแข็งทุกรูปแบบส่งผลกระทบต่อชายฝั่ง ซึ่งรุนแรงกว่าการกัดเซาะตามธรรมชาติ ทั้งนี้เสนอให้เปลี่ยนมาจัดการในลักษณะกลุ่มหาด ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้

ผู้สื่อข่าวรายงานต่ออีกว่า แม้จะมีข้อเสนอของนักวิชาการให้แก้ปัญหาด้วยรูปแบบใหม่แล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่ารัฐใช้งบประมาณไปกับเรื่องนี้ไม่น้อย ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา มติ ครม.สั่งให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำโครงการดังกล่าวแล้วมากกว่า 900 โครงการ ใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากชาวบ้าน ขณะที่บางโครงการไม่ผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA

โดยโครงการที่ผ่าน EIA และดำเนินการไปแล้ว 159 โครงการ ใช้งบประมาณรวมแล้วกว่า 6 พันล้านบาท มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงาน เช่น กรมเจ้าท่าใช้งบประมาณไปแล้ว 3,908 ล้านบาท รองลงมา คือ หน่วยงานระดับจังหวัด 853 ล้านบาท กรมโยธาธิการและผังเมือง 813 ล้านบาท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 373 ล้านบาท รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ รวมอีกกว่า 200 ล้านบาท

ตัวอย่างโครงการที่ทำไปแล้ว ตั้งแต่ชายหาด จ.นครศรีธรรมราช ถึง จ.สงขลา ที่ยังคงแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการใช้โครงสร้างแข็ง

นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
กล่าวว่า การใช้งบประมาณมหาศาลที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หนำซ้ำยังสร้างผลกระทบต่อชายหาดและทรัพยากรทางทะเล ล่าสุด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ในปี 2558 ที่สามารถประกาศเขตคุ้มครองให้กับทะเลและชายฝั่งได้ หรือถ้าต้องการก่อสร้างในพื้นที่ก็ต้องจัดทำรายงานข้อมูลสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากโครงสร้างแข็งเท่านั้น แต่ลักษณะปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ที่เกิดจากคำสั่งจากบนลงล่างตามรูปแบบระบบราชการแบบเดิม ทางออกของปัญหาคงต้องเริ่มที่การรับฟังเสียงของคนในพื้นที่อย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นแรกที่ควรทำก่อนจะไปคิดต่อว่าจะใช้โครงสร้างแข็งหรือใช้วิธีอื่นในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง