กสทช.เร่งค่ายมือถือแก้ "สายหลุด" พบครึ่งปีร้องเรียน 1,900 คน

สังคม
15 มิ.ย. 59
14:41
99
Logo Thai PBS
กสทช.เร่งค่ายมือถือแก้ "สายหลุด" พบครึ่งปีร้องเรียน 1,900 คน
กสทช.เผยตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.-15 มิ.ย.2559 ประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1200 กว่า 1,900 คน ส่วนใหญ่พบปัญหาสายหลุด เร่งประสานเครือข่ายมือถือแก้ปัญหา

วันนี้ (15 มิ.ย.2559) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.-15 มิ.ย.2559 มีประชาชนโทรศัพท์ร้องเรียนผ่านสายด่วน กสทช. หมายเลข 1200 จำนวนกว่า 1,900 คน โดยร้องเรียนเครือข่ายเอไอเอสมากที่สุด 994 เรื่อง ดีแทค 497 เรื่อง ทรู 386 เรื่อง แคท 32 เรื่อง และทีโอที 7 เรื่อง ส่วนปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สายหลุดบ่อยและพบว่าอยู่ในพื้นที่ที่เคยมีการร้องเรียนเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา

สำหรับเขตที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตคลองเตย มีนบุรี จตุจักร ยานนาวา บึงกุ่ม และทวีวัฒนา ส่วนต่างจังหวัด ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.กาฬสินธ์ จ.ขอนแก่น และ จ.จันทบุรี โดย กสทช. จะแจ้งให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือแก้ปัญหา และจะกำหนดวันเพื่อเชิญผู้ประกอบการมาประชุมแก้ปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้จะส่งรถตรวจสอบคุณภาพสัญาณโทรศัพท์ไปสุ่มสำรวจเพื่อเปรียบเทียบดูว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือ มีการแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งนี้ หากประชาชนพบปัญหาการใช้บริการสัญญาณและคุณภาพโทรศัพท์ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1200 ของ กสทช. เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยผลสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสาร โดยนายกษิติธร ภูภราดัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัยนโยบาย สวทช. กล่าวว่า ภาพรวมในปี 2558 เติบโตร้อยละ 7.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 535,989 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวลง เนื่องจากภาคครัวเรือนซึ่งเป็นผู้ใช้หลักในตลาด ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ผู้ใช้องค์กรที่แม้ภาพรวมจะมีการใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น แต่ไม่สามารถดันตลาดให้โตเป็น 2 หลักได้ รวมทั้งนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีของภาครัฐยังไม่ได้ส่งผลต่อตลาดมากนักในปี 2558 สำหรับในปี 2559 คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดสื่อสารจะสามารถเติบโตได้ร้อยละ 11.5 หรือมีมูลค่า 597,584 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากแรงกระตุ้นของการขยายโครงข่าย 3G และ 4G การดำเนินนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรและการให้บริการให้เป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ซึ่งความเสี่ยงจากสภาวะทางเศรษฐกิจ ยังเป็นแรงกดดันการเติบโตของตลาดสื่อสาร ขณะเดียวกันหากภาคธุรกิจและภาครัฐไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการแข่งขันในยุคดิจิทัล จะเป็นอีกข้อจำกัดต่อการเติบโตทั้งในมูลค่าตลาดสื่อสารและของตัวภาคธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง