มหรสพล้านนาตามขนบและประยุกต์ร่วมสมัย ความร่วมใจบูชาพระธาตุศรีจอมทอง

ศิลปะ-บันเทิง
19 มิ.ย. 59
14:50
1,053
Logo Thai PBS
มหรสพล้านนาตามขนบและประยุกต์ร่วมสมัย  ความร่วมใจบูชาพระธาตุศรีจอมทอง
การแสดงศิลปะล้านนาสีสันในงานบุญใหญ่ พิธีอัญเชิญพระธาตุเจ้าเข้าเวียงเชียงใหม่ มีให้เห็นตลอดทาง ทั้งที่เป็นไปตามขนบดั้งเดิมและประยุกต์ร่วมสมัย มากกว่าเอกลักษณ์วัฒนธรรมล้านนายังแสดงถึงความร่วมใจของประชาชน

วันนี้ (19 มิ.ย. 2559) แสงประทีปนับหมื่นดวงสว่างไสว เป็นเครื่องหมายของศรัทธาประชาชนในพิธีอัญเชิญพระธาตุศรีจอมทองเข้าเวียงเชียงใหม่ หากครั้งนี้ยังมีการถวายพุทธบูชาด้วยบทประพันธ์ดั้งเดิม “อื่อกะโลง” หรือขับโคลงทำนองเสนาะแบบล้านนา โดยมีการสีสะล้อเป็นดนตรีประกอบ

คงทั้งวิธีการอื่อและฉันทลักษณ์ของโคลง หากกะโลงนี้แต่งขึ้นใหม่โดยลูกหลานเชียงใหม่ “ณัฐพงษ์ ปัญจบุรี” ใช้วิถีวรรณกรรมท้องถิ่นถ่ายทอดความศรัทธาของคนเมือง ดังกะโลงว่า “เมืองพิงค์เชียงใหม่แก้ว พารา สถิตเสถียรศาสนา มิ่งแม้น”

 

ณัฐพงษ์ ปัญจบุรี ผู้ประพันธ์และอื่อกะโลง กล่าวว่า การขับกะโลงหรือโคลงเป็นวรรณกรรมร้อยกรองที่ใช้ในหลากหลายงาน ปัจจุบันยังใช้เพื่อความบันเทิง แต่ส่วนใหญ่จะใช้ในพิธีกรรม เช่น พิธีเรียกขวัญ การประกอบการเทศน์ หรือชูชาบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยการขับกะโลงวันนี้ เป็นการขับขานเพื่อบวงสรวงบูชาองค์พระธาตุ สรรเสริญ ยกย่อง และกล่าวถึงศรัทธาของประชาชนที่มาพร้อมใจมาด้วยความปีติ

เป็นงานบุญใหญ่ ทำให้มีศิลปินล้านนาร่วมแสดงถวายเป็นพุทธบูชามากมายหลายแขนง อย่างการ ฟ้อนช้างน้าว ของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าพุทธตำนานครั้งพระนางสิริมหามายา สุบินว่า พญาช้างเผือกนำดอกบัวมาถวาย ก่อนมีประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ ถ่ายทอดผ่านนาฏลีลาร่วมกับบทเพลงล้านนาประยุกต์ของวงช้างสะตน และสตริงควอเต็ด

ผศ.มาณพ มานะแซม อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า การฟ้อนช้างที่ได้เห็นเป็นพระศเวตกุญชร คือช้างที่มาจุติในครรภ์ของมารดาพระพุทธเจ้า ถือว่าได้เลียนแบบลีลาของช้าง ไม่ว่าจะนั่ง เดิน สะบัดงวง และเครื่องทรงต่างๆ ก็เลียนแบบมาจากช้างทรงเครื่อง เพชรพลอย และเครื่องเงิน ทุกอย่างคิดประยุกต์ ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แม้กระทั่งเพลงของวงช้างสะตนก็แต่งขึ้นใหม่สำหรับการฟ้อนช้างโดยเฉพาะ

ด้าน ผศ.ธิติพล กันตีวงศ์ ผู้ดูแลวงช้างสะตน บอกว่า วงช้างสะตนเป็นการรวมตัวระหว่างวงดนตรีพื้นเมืองร่วมสมัยกับวงสตริงควอเต็ด ทำมาประมาณ10 กว่าปี เพลงที่จะได้ฟังเป็นผลงานในอดีตที่นำกลับมาเล่นใหม่ ส่วนเพลงที่แต่งสำหรับองค์พระธาตุจะประพันธ์ขึ้นใหม่ ใช้สำเนียงแบบล้านนาดั้งเดิม ผสมกับวงเครื่องสาย ซึ่งจะแบคอัพสร้างความกลมกลืนให้มีความงดงามของตัวทำนองมากขึ้น

 

นอกจากการแสดงจากศิลปิน ยังได้ประชาชน และนักเรียนนักศึกษาจากอำเภอต่างๆ ร่วมมหรสพสมโภชตลอดพิธีอัญเชิญพระธาตุเจ้าเข้าเวียง โดยมากกว่าการถ่ายทอดเรื่องราวตามตำนานพระธาตุ และวัฒนธรรมของชาวล้านนา คือแรงศรัทธาที่ทำให้ทุกการแสดงเป็นมากกว่ามหรสพบันเทิง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง