นักสิ่งแวดล้อม-นักสิทธิฯ เรียกร้อง จนท.รัฐ เข้าใจการทำงาน-เน้นสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรง

สังคม
21 มิ.ย. 59
21:52
226
Logo Thai PBS
 นักสิ่งแวดล้อม-นักสิทธิฯ เรียกร้อง จนท.รัฐ เข้าใจการทำงาน-เน้นสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรง
นักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิฯ สะท้อนความเห็นในเวทีเสวนาสันติภาพจอมปลอมฯ ที่ ม.อ.ปัตตานี โดยเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐอย่ามองว่าเอาแต่ต่อต้านรัฐ แค่ต้องการพื้นที่ทำงาน ช่องทางสื่อสาร เน้นสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง

วันนี้ (21 มิ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ได้ตัดสินใจเปิดเวทีเสวนาสาธารณะทางวิชาการในหัวข้อ "สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ" ที่บริเวณลานใต้อาคารคณะวิทยาการสื่อสาร (วสส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) หลังต้องย้ายสถานที่จัดจากห้อง B310 ซึ่งอยู่ชั้น 3 ของอาคาร วสส. ด้วยถูกคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งกดดันผู้บริหาร ม.อ.ให้ยุติการจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการดังกล่าว

 

ทั้งนี้ แม้จะต้องเปลี่ยนสถานที่จัดกิจกรรมทางวิชาการ แต่ผู้เข้าร่วมล้อมวงเสวนาสาธารณะก็ยังคงคึกคักตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในส่วนของวิทยากร ได้แก่ นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนปัตตานี-สงขลาไม่เอาถ่านหิน นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานงานเครือข่าย PERMATAMAS น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒธรรม น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และนายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี ดำเนินรายการโดย น.ส.นวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีและสื่อมวลชนผู้เชี่ยวชาญภาคใต้

 

น.ส.นวลน้อย กล่าวนำว่า วันนี้มีเหตุทำให้วงเสวนาต้องผิดเพี้ยนไปจากเดิม แต่สถานการณ์แบบนี้ต่อไปอาจจะถือกันว่าเป็นเรื่องปกติ ประเด็นสำคัญของการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนักสิทธิมนุษยชน นักสิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหว ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาเรื้องรังที่กระทบสิทธิทางด้านการเมือง รวมถึงผลกระทบจากโครงการที่พัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ และมีหลายเรื่องราวที่สื่อมวลชนไม่อาจบอกเล่าได้ครบถ้วนว่าเกิดอะไรขึ้น มีแต่ต้องล้อมวงร่วมกันแสวงหาความจริงเท่านั้น

 

"เวทีเสวนาที่ได้จัดขึ้นวันนี้ ต้องขอขอบคุณเจ้าของสถานที่ ถึงแม้อาจจะมีปัญหา และเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ประกาศห้าม แค่โทรศัพท์ไปหาอธิการบดี ม.อ. แต่ทางนักวิชาการคิดว่า เราคงต้องเดินหน้าจัดงานในรูปแบบเดิม เพราะมีปัญหามากมายที่ต้องการจะบอกเล่าให้สังคมได้รับรู้ว่าสำหรับคนทำงานแล้ว ถ้าเราจะทำงานในสถานการณ์แบบนี้ เราจะต้องจัดการอย่างไร" น.ส.นวลน้อย กล่าว

น.ส.อัญชนา กล่าวนำเสวนาเป็นคนแรกว่า ตนเป็น 1 ใน 3 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความดำเนินคดี เพราะกลุ่มด้วยใจทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านการทรมานผู้ต้องหาและเด็ก สถานการณ์ที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมถูกละเมิดสิทธิ์เริ่มจริงจัง หลังตนจากกลับจากการประชุมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไอร์แลนด์ โดยสังเกตจากถ้ามีการจัดกิจกรรมของกลุ่มด้วยใจเมื่อไร ก็จะมีคนทำเพจออกมาต่อต้านทันที อีกทั้งมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำลายข้าวของชาวบ้านเวลามีการปิดล้อมตรวจค้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง