ขยะเกาะสมุย 3 แสนตัน ปัญหาที่ยังเรื้อรัง หาทางออกไม่ได้เทศบาลฯ-ชุมชนยังเห็นแย้ง

สิ่งแวดล้อม
22 มิ.ย. 59
12:02
4,382
Logo Thai PBS
ขยะเกาะสมุย 3 แสนตัน ปัญหาที่ยังเรื้อรัง หาทางออกไม่ได้เทศบาลฯ-ชุมชนยังเห็นแย้ง

วันนี้ (22 มิ.ย.) นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส ถึงการแก้ปัญหาขยะบนเกาะสมุยว่า ขณะนี้การแก้ปัญหาขยะสมุยที่สะสมมานานกว่า 300,000 ตัน โดยสภาเทศบาลนครเกาะสมุย ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 8 ล้านบาท ให้บริษัทเอกชน ยื่นซองประมูลเข้ามาจัดการขยะสะสมเป็นการเฉพาะหน้า ด้วยการคลุมผ้ายางบนกองขยะและจัดระบบน้ำเสีย ให้เข้าสู่ระบบบำบัด ซึ่งบริษัทเอกชนที่รับว่าจ้างเดิมไม่ได้ดำเนินการด้วย

ส่วนการจัดการกับขยะมูลฝอยที่เทศบาลเก็บเข้ามาใหม่ นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย เปิดเผยว่า ได้ว่าจ้างบริษัท สมุทรปราการรีนิวเจเบิ้ล เอนส์จี้ จำกัด ให้นำขยะมูลฝอยที่เก็บทุกวัน วันละประมาณ 150-160 ตัน มาฝั่งกลบเป็นการชั่วคราว ในพื้นที่ใกล้กับเตาเผาขยะใน ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เทศบาลนครเกาะสมุยได้ซื้อที่ดินไว้ 35 ไร่

“เทศบาลนครเกาะสมุยได้ว่าจ้างบริษัท สมุทรปราการรีนิวเจเบิ้ล เอนส์จี้ จำกัด ฝังกลบขยะมาแล้ว 6 เดือน ในพื้นที่ติดกับเตาเผาขยะ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับขยะมูลฝอยเข้ามาใหม่ ได้เพียง 6-7 เดือนเท่านั้น และกำลังให้ปูแผ่นยางในบ่อ 2 แห่ง ที่บริษัทเดิมขุดเอาไว้ เพื่อรองรับขยะมูลฝอยในอนาคต หากขยะเก่า 300,000 ตัน ยังไม่สามารถจัดการได้ คาดว่าจะสามารถรองรับขยะมาฝั่งกลบได้หลังจากนี้อีก 2 ปี หรือประมาณ 60,000 ต่อปี ” นายรามเนตรกล่าว

ส่วนที่มาของปัญหาขยะมูลฝอยสะสมกว่า 300,000 ตัน เทศบาลนครเกาะสมุยได้ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับบริษัทเดิมที่ว่าจ้างให้ดำเนินการจัดการขยะ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในสัญญา ทำให้คณะกรรมการตรวจสอบงาน ไม่สามารถตรวจรับงานได้ ขณะที่บริษัทก็ได้ดำเนินการฟ้องแพ่งกับทางเทศบาลนครเกาะสมุย เพื่อขอให้จ่ายเงินค่าดำเนินการกำจัดขยะก่อนหน้านี้

นายรามเนตรกล่าวว่า แนวทางการจัดการขยะที่ค้างเก่าได้ศึกษาแนวทางการจัดการขยะไว้ 3 แนวทาง คือ 1.เทศบาลนครเกาะสมุย จัดซื้อเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาดำเนินการเอง 2.ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ โดยลงทุนตั้งโรงงานคัดแยกขยะมูลฝอยชุมชน และดำเนินการผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะมูลฝอยชุมชนหรืออาร์ดีเอฟ (Refused Derived Fuel) และ 3.ให้เอกชนนำขยะออกไปจัดการนอกเกาะสมุย

“จากการสอบถามประชาชนในพื้นที่ถึงแนวทางทั้ง 3 แนวทาง พบว่า ประชาชนที่ถามความเห็น คือ หมู่ 2 และ หมู่ 5 ต.มะเร็ต และ หมู่ 5 ต.หน้าเมือง ร้อยละ 100 เห็นด้วย ให้นำขยะออกไปจัดการนอกเกาะ เนื่องจากประชาชนใน ต.มะเร็ต ต้องทนเหม็นกลิ่นขยะมานาน และน้ำเสียจากกองขยะยังไหลลงลำธารสาธารณะ ทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ จึงต้องการให้นำขยะออกไปจัดการข้างนอกเกาะ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประชาชนต้องการมากที่สุด” นายรามเนตรกล่าว

นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุยกล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว ถึงความต้องการของประชาชนบนเกาะสมุย ที่เลือกแนวทางการจัดการขยะ ที่ต้องการให้มีการขนย้ายขยะ 300,000 ตัน ที่สะสมมายาวนานออกไปกำจัดนอกเกาะสมุย แต่ยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัด เนื่องจากแนวทางการจัดการขยะเกาะสุมย ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการรบริหารจัดการขยะ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผู้ว่าฯสุราษฎร์ธานี เป็นประธาน

“ในเมื่อประชาชนเลือก ก็ต้องดูว่าวิธีการขัดต่อหลักการหรือไม่ กระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ก็ต้องมาศึกษาดูถึงความคุ้มค่า และต้องดูว่าบริษัทที่เสนอเข้ามา 3 บริษัทว่าจะนำขยะจากเกาะสมุยไปจัดการได้จริงหรือไม่ เรื่องนี้ทางเทศบาลยังไม่ได้สรุปว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะแนวทาง ที่ให้ขนย้ายขยะออกจากเกาะสมุย ยังมีประชาชนบางส่วนคัดค้าน เพราะมองว่าไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน” นายรามเนตรกล่าว

ด้านพล.ร.อ.จำลอง วังส์ด่าน ตัวแทนภาคประชาชนบนเกาะสมุย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ยืนข้อเสนอแนวทางการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ให้นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุยหลายครั้ง เนื่องจากเห็นว่าเทศบาลนครเกาะสมุยมีแนวโน้มที่จะเลือกแนวทางในการให้บริษัทเอกชน ขนย้ายขยะไปไว้ที่จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อฝั่งกลบ รอไว้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แต่โรงไฟฟ้ายังไม่ได้สร้าง หากนำขยะไปฝั่งกลบ น้ำเสียอาจซึมลงใต้ดิน และสร้างปัญหาใหม่ให้กับพื้นที่ได้

“เรามองว่า วิธีการที่เทศบาลนครเกาะสมุยอ้างว่าเป็นความต้องการของภาคประชาชน อาจจะไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืนและอาจจะใช้งบประมาณมากกว่า ซึ่งกลุ่มของเราเสนอว่าควรให้มีการคัดแยกขยะที่เกาะ โดยให้เอกชนลงทุนตั้งโรงงานคัดแยกขยะมูลฝอยและดำเนินการผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะหรืออาร์ดีเอฟ ก่อนที่จะขนย้ายไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงปูน ซึ่งมีราคาไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับแนวทางที่ขนย้ายขยะออกจากเกาะไปทั้งหมด ที่มีราคาสูงกว่าและอาจสร้างมลพิษในพื้นที่อื่น” พล.ร.อ.จำลอง กล่าว

พล.ร.อ.จำลอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่อยู่ในเกาะสมุยไม่ได้มีผลประโยชน์ กับแนวทาง หรือ วิธีการจัดการขยะที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากเห็นว่าแนวทางที่ทางเทศบาลเกาะสมุยจะดำเนินการ ยังไม่ใช่วิธีแก้ไขที่คุ้มค่าและเกิดความยั่งยืน เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณที่สูงมาก และบริษัทเอกชนที่เทศบาลนครสมุยถูกวางไว้ทั้ง 3 บริษัท เพิ่งจดทะเบียนบริษัทเมื่อปี 2557 อาจยังไม่มีการจัดการที่ดีเพียงพอ และอาจสร้างมลพิษในพื้นที่อื่นๆ ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง