ผลกระทบวงการบันเทิง หลังอังกฤษแยกตัวจากอียู

ศิลปะ-บันเทิง
24 มิ.ย. 59
21:14
593
Logo Thai PBS
ผลกระทบวงการบันเทิง หลังอังกฤษแยกตัวจากอียู
ชาวอังกฤษส่วนใหญ่เลือกโหวตให้สหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งผลการลงประชามติสร้างความผิดหวังแก่คนดังหลากหลายวงการของอังกฤษ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวจากยุโรป

วันนี้ ( 24 มิ.ย.2559 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงประชามติว่าชาวอังกฤษจะได้อยู่หรือจะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) มีผลกระทบต่อวงการบันเทิงด้วยเช่นกัน ซึ่งผลการลงประชามติสร้างความผิดหวังแก่คนดังหลากหลายวงการของอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวจากยุโรป ในวงการเพลงมีทั้ง ไซมอน คาวเวลล์ และ เอลตัน จอห์น ได้โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ว่าควรสร้างสะพานมากกว่าก่อกำแพง ขณะที่นักแสดงดังอย่าง เบเนดิกซ์ คัมเบอร์แบช และ แดเนียล เคร็ก ร่วมลงชื่อคัดค้าน โดยพระเอก 007 ยืนยันว่าไม่ควรมีประเทศใดอยู่อย่างโดดเดี่ยว

ขณะที่เจ้าแม่แฟชั่น วิเวียน เวสต์วูด ยอดนักเขียนหญิง ฮิลลารี แมนเทล นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ สตีเฟน ฮอว์กิง และซูเปอร์สาตาร์ เดวิด เบ็คแคม ต่างเกรงว่าการแยกตัวจะส่งผลเสียต่อชาติ ซึ่งเยาวชนต้องเป็นผู้แบกรับปัญหาในอนาคต

ขณะที่ เจ.เค.โรว์ลิง โพสต์ข้อความผ่านทวิตเช่นกันว่า ฉันไม่คิดว่าเคยต้องการปาฏิหาริย์มากกว่าครั้งนี้ เช่นเดียวกับความเห็นของ นิล เกแมน นักเขียนมือรางวัลที่ทวิตว่า ถึงยูเค ขอจงโชคดี ผมเกรงว่าพวกคุณคงต้องพึ่งโชคอย่างมาก คือเสียงสะท้อนจากแวดวงวรรณกรรมอังกฤษ ต่อผลการลงประชามติ ให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ด้าน เจมส์ คอร์เดน พิธีกรดัง โพสต์ว่าเขารู้สึกมึนงง และขอแสดงความเสียใจต่อเยาวชนชาวบริเทน ที่อาจรู้สึกผิดหวังต่อการลงคะแนนครั้งนี้ ส่วน ฮิวจ์ ลอรี ทวิตถามว่า ขอแก้ตัวด้วยการโหวตใหม่แบบ 3 ใน 5 เกมได้ไหม

นักวิเคราะห์ชี้ว่าการแยกตัวจากสหภาพยุโรป จะส่งผลกระทบต่ออุตสหกรรมภาพยนตร์ในสหราชอาณาจักร เนื่องจากวงการหนังอังกฤษพึ่งพาเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปอย่างสูง เงินเหล่านั้นนำไปใช้ลดหย่อนภาษีให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ชั้นนำของฮอลลีวูด ที่เดินทางมาถ่ายหนังยังสถานที่ต่างๆบนเกาะอังกฤษ ทั้ง Star Wars และ Assassin's Creed และใช้เป็นงบประมาณแก่หนังอินดี้ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศหลายเรื่องทั้ง Carol และ สารคดีรางวัลออสการ์อย่าง Amy

วงการดนตรีอังกฤษ ถูกจับตาว่าจะได้รับผลกระทบหลายส่วน ปัจจุบันยอดขายอัลบั้มศิลปินอังกฤษในยุโรปมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ซึ่งการแยกตัวจากยุโรปจะทำให้การจัดจำหน่ายงานเพลงในยุโรปมีขั้นตอนยุ่งยากและเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้น การหมดสภาพสมาชิกอียู ทำให้ค่ายเพลงอังกฤษจะไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ก้าวหน้าของอียู ซึ่งจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดนตรีดิจิตอล

รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานในวงการดนตรีอังกฤษ และปัญหาใหญ่ที่สุดคือการทัวร์คอนเสิร์ต ในอนาคตศิลปินอังกฤษต้องทำวีซ่าสำหรับเข้าประเทศอียูทุกครั้งที่จะทัวร์ยุโรป ขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อนเพิ่มขึ้น จะสร้างปัญหาให้กับการแจ้งเกิดของศิลปินหน้าใหม่ และทำให้เติบโตของวงการเพลงอังกฤษต้องชะลอตัว

ฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวในอังกฤษ มองว่าวงการหนังอังกฤษอาจได้ประโยชน์กับการไม่ต้องยึดติดกฎระเบียบของอียู และยังอาจเลียนแบบประเทศนอร์เวย์ ซึ่งไม่เป็นสมาชิกอียู แต่สามารถทำการค้ากับยุโรป เนื่องจากปฎิบัติตามข้อกำหนดของอียูนั่นเอง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง