ย้อนปฏิบัติการค้นหานักบิน-ช่างเครื่อง ฮ.ฮิวอี้ ทอ.

ภูมิภาค
29 มิ.ย. 59
09:37
426
Logo Thai PBS
ย้อนปฏิบัติการค้นหานักบิน-ช่างเครื่อง ฮ.ฮิวอี้ ทอ.
ย้อนปฏิบัติการค้นหา 2 นักบิน 1 ช่างเครื่อง หลังเฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ ตกระหว่างปฏิบัติภารกิจที่เขาชะเมา จ.ระยอง ปฎิบัติการครั้งนี้ยังเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเพิ่มซ้ำรอยเครื่องบินของกองทัพบกตกในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อปี 2554

เกือบ 3 วัน ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ กำลังทหารจาก 3 เหล่าทัพ และอาสาสมัคร ร่วมปฏิบัติภารกิจค้นหานาวาอากาศตรีพสิษฐ์ เตชะเสน เรืออากาศเอกอลงกรณ์ จันทร์กระจ่าง 2 นักบินและพันจ่าอากาศเอกวิสุทธิ์ พุทธรักษา ช่างเครื่องประจำเฮลิคอปเตอร์แบบฮิวอี้ หมายเลข ทอ.22/ 12 สังกัดหน่วยบิน 2034 ดอนเมือง หลังขาดการติดต่อ ระหว่างปฏิบัติภารกิจส่งกำลังบำรุงทางอากาศ สถานีสื่อสาร เขาชะเมา จังหวัดระยอง เพื่อหวังให้เกิดปาฎิหารย์ พานักบินและช่างเครื่อง กลับคืนสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย แต่สุดท้ายก็พบเพียงร่างของทหารทั้ง 3 นาย และซากเฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ ห่างจากสถานีสื่อสารฯ ไปเพียง 500 เมตร

ภารกิจครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย ยังเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเพิ่ม โดยอาศัยบทเรียนจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก ประสบอุบัติเหตุตกในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี 2554 รวมทั้งยังเป็นนำเครื่องมือพิเศษและยุทโธปกรณ์ พร้อมทั้งกำลังพลเหล่าทัพและหน่วยงานต่างๆ ช่วยในการค้นหา ทั้งชุดปฏิบัติการพิเศษ 3 เหล่าทัพ ที่ถูกฝึกให้มีขีดความสามารถค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่การสู้รบ เดินเท้าเข้าพื้นที่

และยังนับเป็นครั้งแรกที่ได้กองทัพอากาศได้นำเครื่องบินไร้คนบังคับหรือ UAV แบบ Aerostar จากฝูงบิน 404 ในการบินค้นหาด้วยเรดาร์พิเศษ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการถ่ายภาพ และคลื่นเรดาห์มีคุณสมบัติทะลุผ่านเมฆฝนได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีกล้องตรวจจับความร้อน

ขณะที่กองทัพเรือและกองทัพบกได้ส่งอากาศยานและกำลังพล เข้าร่วมค้นหาอย่างเต็มขีดความสามารถ โดยกองทัพเรือ ไม่เพียงส่งเฮลิคอปเตอร์แบบ S-76 ที่มีภารกิจค้นหาและกู้ภัยทางทะเล ให้การสนับสนุนเท่านั้น แต่ยังจัดกำลังนาวิกโยธิน เข้าร่วมค้นหาตั้งแต่วันแรก ในฐานะเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกองกำลังจันทบุรี-ตราด ซึ่งมีภารกิจในการดูแลความมั่นคงและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

กองทัพบกส่งเฮลิคอปเตอร์แบบแบล็คฮอว์คและเอ็มไอ.17 จากศูนย์การบินทหารบก ขณะที่หน่วยกู้ภัยในพื้นที่ได้เข้าร่วมเดินเท้าและใช้โดรน ในการช่วยค้นหา โดยหัวใจสำคัญในการภารกิจค้นหาครั้งนี้ยังอาศัยความคุ้นเคยพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ แม้ว่าภารกิจนี้จะสามารถเสร็จสิ้นได้ตามแผนและเวลาที่คาดการณ์ไว้แต่ก็ได้เพียงส่งร่างที่ไร้ชีวิตของนักบิน ช่างเครื่องทั้ง 3 นายกลับบ้าน เท่านั้น และเป็นการสูญเสียบุคลากรของกองทัพอีกครั้งจากเหตุการณ์อากาศยานอุบัติเหตุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง