ศูนย์วิจัยเกาหลีใต้รับจ้างโคลนนิงสัตว์เลี้ยงแสนรักให้ฟื้นคืนชีพ ขอแค่คุณจ่าย 3.5 ล้านบาท

ไลฟ์สไตล์
4 ก.ค. 59
20:12
922
Logo Thai PBS
ศูนย์วิจัยเกาหลีใต้รับจ้างโคลนนิงสัตว์เลี้ยงแสนรักให้ฟื้นคืนชีพ ขอแค่คุณจ่าย 3.5 ล้านบาท
ความเศร้าโศกจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักอาจกลายเป็นอดีต เมื่อสถาบันวิจัยในเกาหลีใต้ นำเทคโนโลยีด้านการโคลนนิงสุนัขที่เสียชีวิต ให้เกิดมาเป็นสุนัขตัวใหม่ โดยมีลักษณะและนิสัย ถอดแบบมาจากสุนัขตัวต้นกำเนิดเหมือนฝาแฝดเลยทีเดียว

วันนี้ (4 ก.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ลอรา แจ็คกี้ และ ริชาร์ด เรม เป็นเจ้าของสุนัขรายแรกของอังกฤษ ที่ตัดสินใจยอมจ่ายเงินกว่าแสนดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.5 ล้านบาท เพื่อให้ ดีแลน สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ที่เลี้ยงมาตั้งแต่ยังเล็กกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยกระบวนการโคลนลิ่ง

ทั้งสองได้แรงบันดาลใจจากรายการเรียลิตี้ โชว์ ของอังกฤษ ที่เจ้าของสุนัขแข่งขันกันให้ได้สิทธิ์นำสัตว์เลี้ยงของตนไปโคลนนิงแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย โดย ริเบ็คก้า สมิธ หญิงสาวผู้ชนะในรายการ สมหวังในการทำให้ วินนี สุนัขพันธุ์ดัชชุนที่เสียชีวิตไปไม่นานกลับมาวิ่งเล่นได้อีกครั้ง โดยรูปร่างและอุปนิสัยของวินนี่ตัวใหม่ แทบไม่ต่างจากวันนี่ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้

ทั้งหมดนี้คือความสำเร็จของ Sooam Biotech Research Foundation ศูนย์วิจัยในเกาหลีใต้ ที่ขึ้นชื่อด้านการโคลนนิงสัตว์เลี้ยง หลังจากก่อตั้งมาได้ 10 ปี ศูนย์แห่งนี้โคลนนิงสุนัขไปแล้วกว่า 800 ตัว แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงถึง 3.5 ล้านบาท แต่ความสนใจก็มาจากคนรักสุนัขทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยากคืนชีวิตให้กับสัตว์เลี้ยง หรือหน่วยงานที่ต้องการนำสุนัขที่มีความสามารถพิเศษ เช่น ดมกลิ่นหรือมีทักษะในการกู้ภัย มารักษาสายพันธ์ผ่านการโคลน เช่นการโคลนนิง Trakr สุนัขตำรวจที่โด่งดังจากช่วยเหยื่อจากซากอาคารเวิร์ลเทรดเซนเตอร์

อย่างไรก็ตาม การโคลนสิ่งมีชีวิตของ Sooam Biotech เป็นประเด็นถกเถียงในสังคม แม้สถาบันจะทำการโคลนนิงสัตว์ที่หลากหลาย แต่การขออนุญาตโคลนนิงมนุษย์ของสถาบันกลับถูกปฎิเสธเสมอมา โดยโครงการล่าสุดของ Sooam Biotech คือการโคลนนิงสัตว์ดึกดําบรรพ์อย่างแมมมอธ โดยทีมวิจัยพยายามสกัดเซลจากซากแมมมอธที่ค้นพบในประเทศไซบีเรียเมื่อปี 2012

ล่าสุด Sooam Biotech ได้ร่วมมือกับ Boyalife บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของจีน ก่อตั้งโรงงานโคลนนิงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเมืองเทียนจิน โดยต่อยอดการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงไปสู่การโคลนนิงสัตว์เพื่อการวิจัย นำไปสู่การรักษาโรคในมนุษย์ ทั้ง อัลไซเมอร์ เบาหวาน หรือแม้แต่มะเร็ง

แต่ ชางยอนวู หัวหน้าทีมวิจัยของ Sooam Biotech ยอมรับว่าการโคลนนิงสุนัข ยังคงเป็นงานสำคัญของศูนย์วิจัยแห่งนี้ เพราะสำหรับเขาแล้วความยินดีของเจ้าของสุนัขที่ได้เห็นสุนัขโคลนเป็นครั้งแรก ไม่ต่างจากพ่อแม่ที่ได้เจอหน้าลูกๆ ที่พลัดหลงกันมานาน ซึ่งอารมณ์แห่งความสุขเช่นนั้นทำให้เขามีความมั่นใจในสิ่งที่ทำยิ่งขึ้น

นอกจากโคลนนิ่งสุนัขแล้ว Sooam Biotech ยังได้รับการติดต่อให้โคลนนิงสัตว์เลี้ยงที่หลากหลาย ตั้งแต่ แมว งู จนถึงหนูชินชิลลา แต่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสุนัข เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงนันเอง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง