พบแหล่งปะการังสมบูรณ์ที่หาดวนกร จ.ประจวบคีรีขันธ์

Logo Thai PBS
พบแหล่งปะการังสมบูรณ์ที่หาดวนกร จ.ประจวบคีรีขันธ์
พบแหล่งปะการังที่ยังมีความสมบูรณ์ในอุทยานแห่งชาติหาดนวกร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เตรียมประกาศเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ปะการัง เพื่อขยายพันธุ์ไปปลูกในแหล่งปะการังที่เสื่อมโทรม

เมื่อวานนี้ (6 ก.ค.2559) ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จังหวัดชุมพร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกันสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังใต้ท้องทะเลด้านหลังของเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ อุทยานแห่งชาติหาดวนกร อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผลการสำรวจพบว่ามีแนวปะการังหลายชนิดที่ค่อนข้างสมบูรณ์และมีหลากหลายชนิด ทั้งปะการังลายดอกไม้, ปะการังกาแลกซี่, ปะการังอ่อน โดยเฉพาะปะการังเขากวางโต๊ะ ซึ่งเป็นปะการังที่มีความสวยงามและหายาก แต่ในบริเวณดังกล่าวมีให้เห็นตลอดแนวปะการังกว่า 2 กิโลเมตร

"แหล่งปะการังตรงนี้เป็นแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ที่สุดในอ่าวไทย และยังมีปลาหลากหลายชนิดพันธุ์ อยู่ในระดับที่ไม่ลึกมาก เหมาะกับการดำน้ำดูปะการังแบบสน็อกเกิลลิ่งและแบบสคูบา หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะทำทุ่นจอดเรือเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความเสียหายต่อแนวปะการัง และเพิ่มมาตราการให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าไปดูแลพื้นที่อย่างเข้มงวด เช่น ห้ามเรือประมงเข้ามาในบริเวณนี้และควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้เยอะเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราระมัดระวังมาโดยตลอด" นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 จ.เพชรบุรี

แนวปะการังนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 7 กิโลเมตร ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร โดยพบตลอดแนวชายฝั่งของเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ เป็นระยะกว่า 2 กิโลเมตร ในระดับน้ำลึก 8-10 เมตร ซึ่งคาดว่าในอนาคต บริเวณนี้จะกลายเป็นแหล่งดำน้ำยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพราะนอกจากปะการังที่สวยงามแล้ว ยังมีปลาสวยงามชนิดต่างๆ อาศัยอยู่ตามแนวปะการังจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาผีเสื้อเหลือง ปลาสร้อยนกเขาทะเลจุดดำ และปลานกแก้ว

การค้นพบแนวปะการังที่มีความสมบูรณ์ในครั้งนี้ จึงทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมใช้ปะการังชนิดต่างๆ ที่พบในบริเวณนี้ เพื่อขยายพันธุ์และนำไปปลูกในแหล่งปะการังในพื้นที่อ่าวไทยและทะเลอันดามันที่เสื่อมโทรมจากความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และจากฝีมือมนุษย์ เพื่อให้ความสมบูรณ์ของธรรมชาติทางทะเลไทยกลับคืนมาอีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง