ดีเอสไอเรียกสอบพระคนสนิท "ธัมมชโย" พรุ่งนี้

อาชญากรรม
7 ก.ค. 59
07:26
342
Logo Thai PBS
ดีเอสไอเรียกสอบพระคนสนิท "ธัมมชโย" พรุ่งนี้
กรมสอบสวนคดีพิเศษเรียกสอบปากคำพระ 5 รูปที่เป็นผู้ใกล้ชิดของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ตามประเด็นที่พนักงานอัยการคดีพิเศษสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้กำหนดการค้นวัดพระธรรมกายรอบ 2 เบื้องต้นคาดว่าจะรอให้ฝ่ายสงฆ์ช่วยประสานในการดำเนินการให้ก่อน

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวน สำนักคดีการเงินการธนาคาร ได้เรียกสอบปากคำพระสงฆ์ 5 รูป ที่มีความใกล้ชิดกับพระธัมมชโย มาสอบปากคำในวันพรุ่งนี้ (8 ก.ค.2559) ตามที่พนักงานอัยการ สำนักคดีพิเศษ สั่งให้สอบประเด็นที่สงสัยเพิ่มเติม เพื่อให้รู้ข้อเท็จจริง และกระบวนการการบริหารจัดการภายในวัดพระธรรมกาย

มีรายงานว่าพระวัดพระธรรมกายทั้ง 5 รูป ที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอเรียกสอบประกอบด้วย พระทัตตชีโว พระถวัลย์ศักดิ์ พระมหาสมชาย พระครูใบฎีกาอำนวยศักดิ์ มุนิสโก และพระสุธรรม สุธรรมโม แต่มีรายงานด้วยว่า พระทั้ง 5 รูปได้ส่งหนังสือแจ้งจากวัดพระธรรมกายขอเลื่อนการเข้าให้ปากคำไปวันที่ 21 ก.ค.นี้

 

ทางด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีการเข้าค้นวัดพระธรรมกายรอบที่ 2 ว่า พ.ต.อ.ไพสิฐ อธิบดีดีเอสไอจะเข้าตรวจค้นอีกเมื่อใด แต่เบื้องต้นมหาเถรสมาคมได้ยื่นเรื่องให้ฝ่ายปกครองสงฆ์ และเจ้าคณะจังหวัดดำเนินการแล้ว ซึ่งทราบว่าประสานงานกันอยู่ แต่สุดท้ายหากไม่สามารถประสานกันได้ พนักงานสอบสวนต้องตัดสินใจว่า จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายอย่างไร เบื้องต้นเชื่อว่า เจ้าหน้าที่รอทางฝ่ายปกครองสงฆ์ช่วยดำเนินการ

ดีเอสไอได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโยตามหมายจับในคดีฟอกเงิน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2559 แต่ไม่สามารถปฏิบัติการได้เนื่องจากมีญาติโยมมารวมตัวที่วัดจำนวนมากและไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ จนดีเอสไอต้องแถลงยุติปฏิบัติการตรวจค้นหลังจากพยายามเจรจาอยู่นานกว่า 5 ชั่วโมง

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าขณะนี้กำลังหารือกับมหาเถรสมาคม เพื่อให้พระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว และสัปดาห์หน้าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น จะเร่งรัดขอความคืบหน้าทั้งหมด หากปล่อยเรื่องนี้ไว้นาน จะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

เบื้องต้นได้หรือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้การทำงานมีความสอดคล้องกัน แก้ปัญหาไม่ให้เกิดความขัดแย้งใหม่ ไม่เกิดความเสียหายกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พร้อมกับยืนยันว่าคณะสงฆ์ไม่ได้เพิกเฉยในเรื่องนี้ แต่ขอให้เข้าใจการทำงานที่ต้องมีขั้นตอน และเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะจบลงโดยไม่วุ่นวาย และเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ปัญหาดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง