กสทช. จ่อคุมสายสื่อสาร-โทรคมฯ ลงดิน แก้ปัญหาสายรุงรัง แฉบางยี่ห้อมั่วใช้เสาด้วย

สังคม
7 ก.ค. 59
16:15
556
Logo Thai PBS
กสทช. จ่อคุมสายสื่อสาร-โทรคมฯ ลงดิน แก้ปัญหาสายรุงรัง แฉบางยี่ห้อมั่วใช้เสาด้วย

วันนี้ (7 ก.ค.) นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ มีสายสื่อสาร และสายโทรคมนาคม ไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท ที่พาดผ่านตามสายไฟฟ้า ในกรุงเทพมหานคร และก่อปัญหาต่อแผนงานย้ายสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เนื่องจาก มีบางบริษัทลักลอบพาดสายด้วย

สภาพสายต่างๆ ที่เป็นสภาพสายเคเบิ้ลและ สายไฟเบอร์ออฟติก ที่ให้บริการสายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีให้เห็นทั่วไปตามเสาไฟฟ้าต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง ระบุว่า เป็นอุปสรรคต่อการย้ายสายไฟฟ้าลงดิน เนื่องจากไม่ทราบว่า สายบางเส้น มีบริษัทใด เป็นผู้ให้บริการ และไม่สามารถตัดสายออกจากเสาไฟได้ เพราะอาจกระทบต่อผู้ใช้งานที่อยู่ปลายทาง และขอให้ สำนักงาน กสทช. ช่วยตรวจสอบ และการปัญหาสายสื่อสารและโทรคมนาคม

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า สายสื่อสาร และ โทรคมต่างๆ ส่งผลต่อทัศนียภาพของ กทม. โดยเฉพาะเขตดุสิต เป็นพื้นที่ที่มีสายสื่อสารพาดเสาไฟฟ้ามากที่สุด

 

 

วันนี้ สำนักงานกสทช. เชิญผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อสะท้อนประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกสทช.กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ ต้องแจ้งแผนงานประกอบกิจการต่อกสทช. หากต้องพาดสายผ่านพื้นที่ใด ซึ่งปัจจุบัน มีบริษัท ให้บริการโดยพาดสายกับเสาไฟฟ้า กว่า 20 บริษัท แต่ที่ผ่านมา กสทช. ยอมรับว่า มีบางบริษัท ที่ลักลอบ และตรวจสอบไม่ได้

สำหรับแนวทางแก้ปัญหา หากเป็นการพาดสายในพื้นที่ใหม่. จะต้องนำสายลงใต้ดิน ซึ่งจะต้องทำควบคู่กับการไฟฟ้านครหลวง ที่ต้องนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน. และจะทำให้ตรวจสอบได้มากขึ้นว่า เหลือบริษัท ที่ใช้งานจริง และขออนุญาต และอนาคต หากจะมีการพาดกับเสาไฟฟ้า ก็อาจมีแนวทางอนุญาตให้ผู้ประกอบการพาดสายไม่เกิน 3 บริษัท ซึ่งแต่เดิม กสทช.ไม่เคยมีข้อกำหนด

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า การลงทุนโครงข่ายลงท่อร้อยสายใต้ดินสำหรับการวางสายสื่อสาร และ โทรคมนาคม มีค่าใช้จ่ายสูงเฉลี่ย 2 ล้านบาท ต่อ 1 กิโลเมตร ต่อสาย 1 เส้น

ส่วนค่าเช่าท่อใต้ดิน ขณะนี้ บริษัท ทีโอที เป็นผู้รับผิดชอบ สิ่งที่ กสทช.กังวล หากอนาคต ราคาค่าเช่าท่อ ไม่ถูกกำกับ จะส่งผลให้เกิดการผูกขาด และ ทำให้ราคาสูง ซึ่งมีรายงานว่า บริษัท ทีโอที อาจคิดอัตราค่าเช่าท่อ ในราคา 60,000 -80,000 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร หากจะมีผู้ประกอบรายใดสนใจเช่า ซึ่ง ขณะนี้ ทาง กสทช. อยู่ระหว่าง การประเมินต้นที่แท้จริง เพื่อกำกับไม่ให้เกิดการผูกขาดระบบการวางสายลงใต้ดิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง