เปิดรายชื่อกรรมการนโยบาย "ไทยพีบีเอส" คนใหม่ 5 ตำแหน่ง

สังคม
7 ก.ค. 59
17:10
477
Logo Thai PBS
เปิดรายชื่อกรรมการนโยบาย "ไทยพีบีเอส" คนใหม่ 5 ตำแหน่ง
ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแประเทศไทย มีมติเลือก รศ.จุมพล รอดคำดี, รศ.ณรงค์ เพชรประเสริฐ, นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ, นายไพโรจน์ พลเพชร และ รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.คนใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างลง

วันนี้ (7 ก.ค.2559) ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้เชิญผู้สมัครเป็นกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ทั้งหมด 15 คนมาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการคัดเลือกกรรมการนโยบายคนใหม่ 5 คน แทนตำแหน่งที่ว่างลง

เมื่อเวลา 17.00 น. คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งมีนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ เป็นประธานได้มีมติเลือกบุคคลเป็นกรรมการนโยบาย 5 ตำแหน่งดังนี้

กรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ด้านบริหารจัดการองค์กร
1.รศ.จุมพล รอดคำดี

2.รศ.ณรงค์ เพชรประเสริฐ

กรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็กเยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

1.นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ

2.นายไพโรจน์ พลเพชร

3.รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์

รศ.จุมพล รอดคำดี ให้สัมภาษณ์หลังแสดงวิสัยทัศน์ว่า ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะต้องเน้นการเข้าถึงประชาชน มีเนื้อหาที่หลากหลายและแตกต่างจากสื่อธุรกิจ โดยเฉพาะการรายงานข่าว จะต้องไม่ทิ้งประเด็นหรือเรื่องราวที่สื่อธุรกิจมองข้าม เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีพื้นที่และโอกาสเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ แก่สังคม 

“อยากให้ไทยพีบีเอสเป็นโรงเรียนของสังคม เป็นห้องเรียนที่ประชาชนสามารถเรียนรู้ และนำความรู้ไปเป็นข้อมูลอ้างอิง นำไปศึกษา นำไปทำต่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการดำเนินชีวิต พร้อมสร้างสติปัญหาให้คนในสังคม”

 

ขณะที่ รศ.ณรงค์ เพชรประเสริฐ ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 27 ส.ค.2559 กล่าวว่า มุ่งหวังให้ไทยพีบีเอส เป็นหัวขบวนของการเคลื่อนไหวทางสังคมให้สังคมมีคุณภาพและมีคุณธรรม ขณะเดียวกันการนำเสนอเนื้อหาจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในสื่อโทรทัศน์ วิทยุและออนไลน์เพื่อเพิ่มพลังในการเผยแพร่ข่าวสารให้เข้มแข็งและสามารถแข่งขันกับสื่ออื่นได้

“นอกจากนี้ ผมยังมีนโยบายปฏิรูปหน่วยงานและกระบวนการทำงานให้มีความกะทัดรัด ประหยัดและคล่องตัว ด้วยการยกระดับจิตสาธารณะและทักษะของพนักงาน โดยคน 1 คนต้องมีทักษะงานมากกว่า 1 อย่าง ขณะที่การจัดงบประมาณต้องเป็นแบบไม่ขาดดุลและมีรายจ่ายอย่างมีเหตุผล” รศ.ณรงค์ กล่าว

 

ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญปัญหาการปฏิรูปประเทศ การพัฒนาประชาธิปไตยและความปรองดองมายาวนาน ซึ่งไทยพีบีเอสต้องทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการเสนอทางออก และสร้างเครือข่ายจากภาคประชาชนให้มีมากขึ้น ขณะที่การนำเสนอข่าวและรายการต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ และเปลี่ยนมุมมองให้แตกต่างกว่าสื่อกระแสหลัก 

“การบริหารงานภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด ทำให้เห็นว่าเราควรจะต้องมีการทบทวนที่มาของรายได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะในปี 2560 ไทยพีบีเอสอาจพบกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเป็นได้ทั้งการถูกตัดงบประมาณและการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้พนักงานทุกคนต้องเข้าใจ รวมถึงต้องมีการเตรียมความพร้อมว่าจะจัดการอย่างไรเมื่อเหตุการณ์นี้มาถึง”

 

 

   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง