ก้มคอ-ห่อไหล่ เสี่ยงเกิดอาการ "Text Neck Syndrome"

สังคม
8 ก.ค. 59
11:18
499
Logo Thai PBS
ก้มคอ-ห่อไหล่ เสี่ยงเกิดอาการ "Text Neck Syndrome"
การก้มหน้ามองจอสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์นานเกินไป รวมถึงการห่อไหลเวลาแชทนานๆ เป็นต้นเหตุของอาการปวดที่วงการการแพทย์อเมริกาเรียกอาการปวดนี้ว่า "Text Neck Syndrome" หรือกลุ่มอาการปวดเรื้อรัง ที่เกิดจากการบาดเจ็บบริเวณคอ บ่า และไหล่

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้สมาร์ทโฟนท่องโลกอินเตอร์เน็ต หรือแชทผ่านหน้าจอบ่อยครั้งและครั้งละนานๆ ลองสังเกตตัวเองและคนรอบข้างว่าท่าทางขณะใช้ คุณก้มคอเพื่อมองจอมากขนาดไหนและห่อไหล่เวลาแชทนานๆหรือไม่

ท่าทางเหล่านี้เป็นต้นเหตุของอาการปวดต้นคอ บ่า และไหล่เรื้อรัง ซึ่งอาจลุกลามจนทำให้ข้อต่อหรือหมอนรองกระดูกบริเวณคอเสื่อมได้ เพราะการโน้มคอ ก้มศีรษะมาด้านหน้าและห่อไหล่ทั้งสองข้างขณะใช้สมาร์ทโฟนบ่อยๆ เป็นเวาลานาน ทำให้ร่างกายอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมจนกล้ามเนื้อบริเวณคอบาดเจ็บเรื้อรัง คนที่เป็นมากอาจมีอาการชารุนแรงถึงขั้นปวดร้าว ตั้งแต่ต้นคอถึงมือ รวมทั้งแขนและมีอาการมืออ่อนแรง

การเงยหน้าขึ้นจากจอ ยืดตัวคลายความเมื่อยล้า อาจเป็นวิธีที่ทำให้หลายคนรู้สึกดีขึ้นเวลาก้มนานๆ โดยที่ไม่รู้ว่าการก้มดูจออาจทำให้ร่างกายโตผิดรูปร่างได้ เพราะยิ่งก้มมาก ก้มนาน เส้นเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อคอไว้ยิ่งอ่อนแอ ทำให้กระดูกสันหลังด้านบนปูดออก และเส้นประสาทบริเวณคอถูกกดทับ

วารสารทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า หากเราโน้มคอ ก้มหน้ามองจอสมาร์ทโฟนเพียง 15 องศา คอเราจะแบกรับน้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัม หากก้มมากขึ้นที่ 45 องศา คอต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 20 กิโลกรัม และหากก้มมากกว่าเดิมที่ 60 องศา เท่ากับว่าคอต้องรับน้ำหนักถึง 27 กิโลกรัม หรือเท่ากับเด็กวัย 8 ขวบมานั่งอยู่บนศีรษะขณะที่ยืน

การป้องกันอาการ "Text Neck Syndrome" จากการใช้สมาร์ทโฟนทำได้โดยการปรับท่าทางใช้งาน โดยให้คออยู่ในแนวตรงมากที่สุด ไม่ก้มหลังและไม่ห่อไหล่ หยุดพักเพื่อเปลี่ยนท่าทางบ้างหากต้องใช้สมาร์ทโฟนต่อเนื่องนานๆ

ผู้ที่รู้สึกปวดเมื่อย อาจลองบริหารต้นคอ เช่น ขยับศีรษะช้าๆจากซ้ายไปขวาและทำซ้ำๆ หรือใช้ฝ่ามือดันศีรษะเคลื่อนไปข้างหน้าและหลัง รวมทั้งกางมือและแอ่นหน้าอกไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อยืดกล้ามเนื้อ ซึ่งก็เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดและสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ

แม้ว่าการทำกายภาพบำบัด หรือรับประทานยาจะทำให้กลุ่มอาการปวดเรื้อรังบริเวณคอ บ่าและไหล่ดีขึ้น แต่หากผู้ใช้กลับมาทำพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนแบบเดิมอีก ก็มีโอกาสกลับมาเป็น Text Neck Syndrome ได้อีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง