กฟน.เปิดแผนเก่า-ใหม่ลากสายไฟลงใต้ดิน ยืนยันไร้ปัญหาจากน้ำท่วม-รั่วซึม

เศรษฐกิจ
8 ก.ค. 59
13:17
851
Logo Thai PBS
กฟน.เปิดแผนเก่า-ใหม่ลากสายไฟลงใต้ดิน ยืนยันไร้ปัญหาจากน้ำท่วม-รั่วซึม
กฟน.เปิดเผยแผนงานเก่าและใหม่ โครงการนำระบบสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน ยืนยันไร้ปัญหาข้อกังวลน้ำท่วมและรั่วซึม เดินหน้าดำเนินการอีก 39 เส้นทาง โดยใช้งบประมาณกว่า 48,000 ล้านบาท

วันนี้ (8 ก.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสภาพความเป็นเมืองใหญ่ในกรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และสมุทรปราการ ทำให้ในปัจจุบัน มีผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 350,100 ราย และมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดกว่า 8,600 เมกะวัตต์ รวมทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รับผิดชอบจ่ายกระแสไฟครอบคลุมพื้นที่ 3,192 ตารางกิโลเมตร

 

 

นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยถึงแผนงานโครงการนำระบบสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดินว่า ตามแผนงานเดิมเสร็จสิ้นแล้ว 6 เส้นทาง ขณะนี้มีเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 เส้นทาง และเส้นทางใหม่ที่จะทำในปี 2561 อีก 39 เส้นทาง โดยเส้นทางปัจจุบันที่อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา และย้ายสายไฟฟ้าลงใต้ดินมี 6 โครงการ รวม 53.3 กิโลเมตร จะทยอยเสร็จตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2563 ได้แก่ โครงการสุขุมวิทในส่วนที่เหลือ ระยะทาง 5.6 กม., โครงการจิตรลดา-ปทุมวัน-พญาไท ระยะทาง 6 กม., โครงการนนทรี ระยะทาง 8.3 กม., โครงการพระรามสาม ระยะทาง 10.9 กม. และโครงการรัชดาภิเษก-พระรามเก้า ระยะทาง 14.3 กม.

 



ส่วนโครงการที่ กฟน.ทำเสร็จในช่วงที่ผ่านมา มี 6 โครงการ รวม 35 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการสีลม เป็นเส้นทางแรกที่เกิดขึ้น มีระยะทาง 2.7 กม. เริ่มดำเนินการปี 2527 แล้วเสร็จปี 2531 หรือเกือบ 30 ปีที่แล้ว ส่วนปี 2550 มี 2 โครงการ ได้แก่ เส้นทางปทุมวัน เริ่มกระบวนการปี 2535 ระยะทาง 6.7 กม. และโครงการจิตรลดา เริ่มก่อสร้างปี 2539 ระยะทาง 6.8 กม. สำหรับปี 2557 มี 3 เส้นทาง ได้แก่ พหลโยธิน ระยะทาง 8 กม., เส้นทางพญาไท เกือบ 3.8 กม. และเส้นทางสุขุมวิท 7 กม. ทั้ง 3 เส้นทาง ใช้ระยะเวลาทั้งกระบวนการ ประมาณ 10 ปี แล้วเสร็จเมื่อปี 2557

 



สำหรับเหตุผล เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองเป็นประเด็นหลัก และจัดระเบียบสายไฟ เพื่อให้มีทัศนียภาพที่สวยงามเป็นประเด็นรอง สำหรับอนาคตมีเส้นทางที่จะดำเนินการอีก 39 โครงการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เดือนกันยายน 2558 รวมระยะทาง 127 กม. ใช้งบประมาณลงทุนกว่า 48,000 ล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างการกำหนดเส้นทางชัดเจนที่จะวางแนวท่อใต้ดิน และต้องหารือร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยมีการทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกัน ได้แก่ สำนักงาน กสทช., สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร และบริษัท ทีโอที เพื่อไม่ให้ต่างฝ่ายต่างทำเหมือนที่ผ่านมา

 

 

ประเด็นการย้ายสายไฟฟ้าจากบนดิน จะทำผ่านท่อร้อยสาย ลงสู่ท่อใต้ดินที่อยู่บนทางเท้า เพื่อกระจายเส้นทางไปยังครัวเรือน หรือหน่วยงาน หรือภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยการขุดถนน หรือก่อสร้างท่อใต้ดิน จะเน้นใช้ระยะเวลาในช่วงกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรที่คับคั่ง โดยขณะนี้ มีเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 6 เส้นทาง เช่น บริเวณถนนราชวิถี จาก แยกตึกชัย ไป แยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ระยะทาง 1 กม.

นายธนกฤต ชัยจิรารักษ์ วิศวกรไฟฟ้า 8 ฝ่ายบริหารโครงการ กฟน.กล่าวว่า ตามแผนงาน กฟน.จะวางแนวย้ายสายไฟฟ้าไว้ 3 รูปแบบ ขึ้นกับสภาพความเหมาะสมของพื้นที่ ส่วนข้อกังวลของหลายคนที่ทราบว่า มีการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน อาจเกิดปัญหา หากถูกน้ำท่วมหรือมีความเสี่ยงต่อการจ่ายกระแสไฟนั้น สายที่ใช้ระบบใต้ดินเป็นสายกันน้ำ ซึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อขุดลงไปไม่เกิน 40 ซม. จะพบน้ำใต้ดินแน่นอน ดังนั้น สายที่ กฟน.ใช้วางใต้ดิน จะแช่น้ำตลอดเวลาอยู่แล้ว และมีความปลอดภัยในการแช่น้ำได้ เป็นสายเฉพาะที่ใช้เกี่ยวกับระบบสายใต้ดินโดยเฉพาะ

 



ทั้งนี้ การก่อสร้างมีด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ การขุดเปิดผิวดินจะรบกวนต้องปิดจราจรมาก ความลึกของท่ออยู่ไม่น้อยกว่า 80 ซม. และเป็นท่อหุ้มร้อยสาย เมื่ออยู่บนถนนจะมีคอนกรีตปิดด้านบนเพื่อไม่ให้กระทบต่อท่อหุ้มสาย วิธีที่ 2 คือการเจาะถนน ไม่กระทบการจราจร แต่เสียเวลาการตั้งเครื่องและแนวสายท่อที่วางที่จะต้องมีระยะยาวพอสมควร และไม่สามารถทำงานในระยะเวลาสั้นๆ ได้ โดยระดับความลึก จะลึกกว่าแบบแรก มีราคาแพงกว่าการก่อสร้าง ส่วนรูปแบบสุดท้าย คือการดันท่อคอนกรีต โดยมีท่อย่อยอยู่ข้างในอีกชั้นหนึ่ง มีวิธีแพงมาก แต่กระทบการจราจรน้อย แต่ใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน

 

 

สำหรับกรณีการตรวจสอบกระแสไฟเมื่อลงสู่ใต้ดินนั้น ทาง กฟน.มีความชำนาญในการตรวจสอบและต่อสายไฟ รวมถึงระบบการตรวจจับแบบระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งเมื่อไฟดับ ทางเจ้าหน้าที่จะทราบว่าจะดับช่วงไหนอย่างไร และสลับเส้นในการจ่ายไฟได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง