ส.อ.ท.ชี้โตโยต้าเลิกจ้างเป็นปัญหาเฉพาะบริษัท

เศรษฐกิจ
15 ก.ค. 59
19:53
549
Logo Thai PBS
ส.อ.ท.ชี้โตโยต้าเลิกจ้างเป็นปัญหาเฉพาะบริษัท
รองประธาน ส.อ.ท.ระบุโตโยต้าเลิกจ้างเป็นปัญหาเฉพาะบริษัท เนื่องจากยอดสั่งซื้อรถยนต์ในภูมิภาคตะวันออกกลางลดลง จากภาวะสงคราม และราคาน้ำมันลดลง ส่งผลให้แรงงานล้น จนต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการเลิกจ้าง

จากกรณีที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เลิกจ้างลูกจ้างเหมาค่าแรงในโรงงาน ที่ จ.สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา จำนวน 1,200 คน โดยจ่ายชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน

ความคืบหน้าเรื่องนี้ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่โตโยต้าเลิกจ้างลูกจ้างเหมาค่าแรงเป็นปัญหาเฉพาะบริษัท โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังไม่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง และยังมีแนวโน้มที่ดี โดยยอดสั่งซื้อรถยนต์ของโตโยต้าในภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ลดลงเหลือ 16 % จากเดิมอยู่ที่ 26 % หรือประมาณ 100,000 คัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม ประกอบกับราคาน้ำมันดิบลดลง ทำให้กำลังผลิตล้น และจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการเลิกจ้างลูกจ้างเหมาค่าแรง

อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างแบบมีเงื่อนไข ไม่ใช่การเลิกจ้างตลอดไป หากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น โตโยต้าจะรับลูกจ้างเข้ามาทำงานอีกครั้ง ซึ่งในปี 2551 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โตโยต้ามีการเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชย หลังจากผ่านไป 3-4 เดือน ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ก็กลับมาจ้างงานอีกครั้ง แต่ได้แรงงานกลับมาเข้ามาทำงานแค่ 90 % ส่วนที่เหลือได้งานใหม่แล้ว

ส.อ.ท.จะไม่ทิ้งแรงงานด้านยานยนต์ เพราะว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ ส่วนความช่วยเหลือลูกจ้างเหมาค่าแรงที่ถูกเลิกจ้างนั้น ได้รับการจ่ายเงินชดเชยดีกว่ากฎหมายแรงงาน ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องมาขอความช่วยเหลือจาก ส.อ.ท.

สำหรับเป้าหมายยอดส่งออกรถยนต์ในปีนี้ ส.อ.ท.ตั้งไว้ที่ 750,000 คัน ส่วนโตโยต้าตั้งไว้ที่ 720,000 คัน เนื่องจากความต้องการถูกดึงไปในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนกลัวเรื่องภาษีรถยนต์จะปรับขึ้น ส่งผลให้ในเดือนธันวาคม 2558 มียอดขายรถยนต์สูงถึง 110,000 คัน ยอดขายไม่สูงเท่านี้มา 30 เดือนแล้ว โดยโตโยต้ามองว่า ยอดขายในประเทศ และยอดส่งออกยังไม่ดีขึ้น หลังจากธนาคารโลกได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกลงเหลือ 2.4 % จาก 2.9 % ส่วนผลกระทบจาก Brexit ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะส่งทำให้ค่าเงินอ่อนค่าแค่ไหน ถ้าอ่อนค่ามาก สินค้าที่ส่งไปจะมีราคาแพง อาจทำให้ส่งออกลดลงอีกมาก

นายสุรพงษ์กล่าวว่า บริษัทรถยนต์ยังไม่มีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น แต่มีในลักษณะของการตั้งโรงงานในประเทศอื่นเสริม เช่น ตั้งโรงงานที่อินโดนีเซีย ซึ่งมียอดขายรถยนต์ประมาณ 1,200,000 คัน นับว่าเป็นโอกาสที่ต้องขยายตลาด เนื่องจากอินโดนีเซียมีประชากรมากถึง 250 ล้านคน และเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย โดยอยู่ที่ 880,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 370,000-380,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโตโยต้าผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซีย 600,000-700,000 คัน และผลิตในประเทศไทย 800,000 คัน ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน หรืออย่างเวียดนาม มีประชากร 92 ล้านคน คนไทยมีแค่ 65 ล้านคน บริษัทรถยนต์จึงไปสร้างโรงงานรองรับความต้องการของประเทศนั้นในอนาคต ซึ่งไม่ใช่เป็นการย้ายฐานการผลิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง