ชาวเน็ตทั่วโลกเตรียมเฉลิมฉลองให้กับ Emoji สัญลักษณ์แทนอารมณ์

Logo Thai PBS
ชาวเน็ตทั่วโลกเตรียมเฉลิมฉลองให้กับ Emoji สัญลักษณ์แทนอารมณ์
สำหรับโลกออนไลน์แล้ว วันที่ 17 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นวันที่ชาวเน็ตทั่วโลกเตรียมเฉลิมฉลองให้กับ Emoji สัญลักษณ์แทนอารมณ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้คนสามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแต่ตัวอักษรเหมือนในอดีตเท่านั้น

แค่เปลี่ยนสีหน้า รูป Emoji ที่อยู่หน้าจอก็เปลี่ยนตามไปด้วย คือหนึ่งในกิจกรรมสนุกสนานใน Love: From Cave to Keyboard นิทรรศการในนครนิกยอร์ก เพื่อจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวัน World Emoji Day ในวันที่ 17 กรกฎาคมของทุกปี จุดประสงค์เพื่อสื่อถึงความนิยมของการใช้สัญลักษณ์แสดงรูปอารมณ์ ในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ที่ไม่จำกัดเพียงตัวอักษรเหมือนในอดีต

ในงานจะพาผู้ชมย้อนไปรู้จักความเป็นมาของการประดิษฐ์อวัจนภาษาเพื่อการสื่อสารของมนุษย์ ตั้งแต่การวาดภาพสัตว์ของมนุษย์ถ้ำ, การส่งสัญญาณด้วยควันไฟสมัยบรรพกาล, การใช้อักษรภาพในระบบการเขียนไฮโรกลิฟของอียิปต์ จนถึงการประดิษฐ์สัญลักษณ์ร่วมสมัย ตั้งแต่การสร้างไอคอนสำหรับการใช้งานบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ จนถึงการประดิษฐ์ Emoji รูปแบบต่างๆ โดย ผู้จัดงานย้ำว่าทุกวันนี้สัญลักษณ์ Emoji ถูกใช้อย่างแพร่หลาย จนเป็นสัญลักษณ์ที่เข้าใจตรงกันได้ทั่วโลก

Emoji เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1999 ในสมัยที่วัยรุ่นนิยมพกพาเครื่องมือสื่อสารประเภทเพจเจอร์ ชิเกทากะ คูริตะ นักออกแบบของ NTT DoCoMo บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ จึงออกแบบสัญลักษณ์ที่ใช้แทนอารมณ์แบบง่ายๆ ออกมา 176 แบบ ที่กลายเป็นต้นแบบของ Emoji ในวันนี้ โดยปัจจุบันมี Emoji ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการถึง 1,851 แบบ มีคนดังสร้าง Emoji ของตัวเองออกมาเผยแพร่ ทั้ง Justmoji ของ จัสติน บีเบอร์ และ KIMOJI ของ คิม คาดาเชียน ความนิยมที่แพร่หลาย ทำให้โรงแรมในนิวยอร์กและภัตตาคารในลอนดอน ทำเมนูอาหารที่มีแต่ตัว Emoji ส่วนหนังที่เกี่ยวกับ Emoji ก็เตรียมสร้างออกมาให้ชมกันเร็วๆ นี้อีกด้วย

ล่าสุด ทางทวิตเตอร์ได้เปิดเผยผลสำรวจความนิยมของการใช้ Emoji ในแต่ละประเทศ ซึ่งพบว่าทวีปอเมริกาเหนือและอังกฤษ นิยมใช้ Emoji ใบหน้าร้องไห้แทนการเสียใจ ชาติในยุโรปทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส และต้นตำรับอย่างญี่ปุ่นนิยมใช้รูปหัวใจสื่อถึงความรัก ส่วนชาติในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนิเซีย ชื่นชอบใบหน้ายิ้มโชว์ฟันขาวเป็นพิเศษ

ส่วนกูเกิลยกระดับความเท่าเทียมทางเพศของการใช้ Emoji ด้วยการเปิดตัว Emoji เพศหญิงในรูปแบบต่างๆ รวมถึง Emoji ของผู้หญิงที่ทำงานในสาขาอาชีพอันหลากหลายในสังคม โดยผลสำรวจของ SocialTimes เมื่อปีก่อนพบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพศหญิง นิยมส่งข้อความด้วย Emoji ถึงร้อยละ 78 มากกว่าผู้ชายที่ใช้เพียงร้อยละ 60

Emoji ถ้าออกเสียงตามต้นฉบับของญี่ปุ่น จะอ่านออกเสียงว่า เอโมจิ ซึ่งเป็นร่วมกันของคำว่า เอ ที่แปลว่ารูปภาพ และ โมจิ ที่แปลว่าตัวอักษร ส่วนตะวันตกจะคุ้นกับคำว่า Emoticon ซึ่งเป็นรวมกันของคำว่า emotion และ icon นั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง