ภาคใต้เร่ง จนท.แจง ร่าง รธน.เหตุไม่เข้าใจภาษาไทย-สอบทำลายเอกสารประชามติขอนแก่นไม่เกี่ยวการเมือง

การเมือง
23 ก.ค. 59
14:45
108
Logo Thai PBS
ภาคใต้เร่ง จนท.แจง ร่าง รธน.เหตุไม่เข้าใจภาษาไทย-สอบทำลายเอกสารประชามติขอนแก่นไม่เกี่ยวการเมือง
กกต.ขอนแก่น เผยผลสอบการทำลายเอกสารประชามติภายในจังหวัด เบื้องต้นไม่พบเกี่ยวข้องการเมือง คาดก่อเหตุเพราะความคึกคะนอง ด้านตำรวจเตรียมเรียกสอบปากคำเพิ่ม ด้านประชาชนภาคใต้ขอเจ้าหน้าที่เร่งทำความใจร่างรัฐธรรมนูญ เหตุไม่เข้าใจภาษาไทย

จากกรณี เกิดเหตุเผาทำลายเอกสารประชามติของหน่วยเลือกตั้งที่ 36 ชุมชนใหม่สามัคคี เขตเทศบาลเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น เมื่อช่วงดึกวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา

วันนี้ (23 ก.ค. 2559) นายอภินันท์ จันทร์อุปละ ผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากตรวจสอบพบว่าเป็นเพียงความคึกคะนองของคนในพื้นที่ และคาดว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่ได้แจ้งความเอาผิดกับผู้ก่อเหตุตามมาตรา 57 ในข้อหาขัดขวาง และทำลายเอกสารทรัพย์สินของทางราชการ มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ด้านตำรวจเตรียมเรียกชายต้องสงสัยที่ปรากฎในกล้องวงจรปิดมาสอบปากคำเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายพื้นที่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติ เช่น ใน จ.นครราชสีมา ตัวแทนผู้พิการทางสายตาที่มีสิทธิออกเสียงประชามติในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 100 คน เข้ารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับอักษรเบลและเสียงจำนวน 300 ชุด พร้อมทั้งแผ่นพับสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้พิการทางสายตา 

โดยตัวแทนผู้พิการทางสายตา กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับผู้พิการทางสายตาหลังทดลองอ่านเอกสาร ซึ่งส่วนใหญ่ยืนยันว่าจะออกไปออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ และเชิญชวนผู้พิการทางสายตาออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงลงประชามติให้มากที่สุด

ส่วน ใน จ.สงขลา พบว่า ประชาชนใน อ.คลองหอยโข่ง ให้ความสนใจต่อเอกสารการแจ้งสิทธิการออกเสียงประชามติที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ โดยภายในแจ้งรายละเอียดถึงวันเวลาในการออกเสียง รวมถึงจำนวน และลำดับที่ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เพื่อความสะดวกในการไปลงเสียงประชามติ ทั้งนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ทราบว่าวันที่ 7 ส.ค. 2559 ต้องเดินทางไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ แม้จะไม่เข้าใจเรื่องร่างรัฐธรรมนูญมากนัก

ขณะที่ ใน จ.ยะลา ชาวบ้านในพื้นที่กังวลถึงการออกเสียงประชามติ เนื่องจากคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาไทย จึงทำให้การตีความทำความเข้าใจในตัวบทของร่างรัฐธรรมนูญล่าช้า และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง