“ภาษา-ครู-ยาเสพติด-โอกาส-วัฒนธรรม” อุปสรรคบนเส้นทางการศึกษาของ นร. 3 จว.ใต้

ภูมิภาค
25 ก.ค. 59
07:22
1,457
Logo Thai PBS
“ภาษา-ครู-ยาเสพติด-โอกาส-วัฒนธรรม” อุปสรรคบนเส้นทางการศึกษาของ นร. 3 จว.ใต้
การเข้าถึงสิทธิในการศึกษา รวมถึงการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งส่งผลให้การประเมินหรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเยาวชนน้อยกว่าพื้นที่อื่น มาจากปัญหาหลายประการ

ภาษาไทยอ่อน ไม่เข้าใจบทเรียน-ข้อสอบ

ปัญหาภาษาไทยอ่อนเกิดขึ้นกับเด็กในทุกระดับการศึกษา เนื่องจากครอบครัวของเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ใช้ภาษามลายูเป็นหลักและใช้ภาษาไทยเป็นภาษารอง

นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า เด็กในจังหวัดชายแดนใต้มีความสามารถในการเรียนรู้ทำความเข้าใจเหมือนกับเด็กภาคอื่นๆ แต่เพราะไม่เข้าใจภาษาไทยดีพอ ส่งผลให้การเข้าใจเนื้อหาและอ่านโจทย์ข้อสอบไม่ดีเท่าที่ควร ปัญหาไม่ใช่การทำข้อสอบไม่ได้ ทำให้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ต่ำกว่าภาคอื่นๆ

ขณะที่นายประภาส ขุนจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนราธิวาส จ.นราธิวาส ระบุว่า เมื่อเด็กไม่เข้าใจภาษาไทยก็ทำให้รู้สึกว่าเรียนไม่ทันเพื่อน เบื่อ ไม่อยากมาโรงเรียน การแก้ปัญหาก็คือ ในช่วงเปิดภาคเรียนจะมีการทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาไทย โดยแบ่งตามระดับชั้น ได้แก่ ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนคนไหนที่มีพื้นฐานภาษาไทยไม่ดีพอ ก็จะจัดสอนเสริมในช่วงเช้าของทุกวันก่อนเข้าห้องเรียนประมาณ 1 ชั่วโมง ในช่วงเวลาประมาณ 06.00 – 07.00 น. โดยมีทั้งครูที่สอนโดยตรงและนักเรียนรุ่นพี่มาช่วยสอน จนสามารถเข้าใจภาษาไทยดีขึ้น ซึ่งก็จะสามารถเรียนตามปกติได้

นางรอกีเยาะ อาเยะ ครูชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มสาระภาษาไทย โรงเรียนบ้านเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส บอกว่า การทดสอบภาษาไทย แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ เด็กที่อ่านภาษาไทยไม่ออกเลย เด็กที่พออ่านภาษาไทยได้ และเด็กที่อ่านคล่อง หากพบว่ามีปัญหา ก็จะมีการสอนเสริมโดยเน้นการแจกลูกและการสะกดคำซึ่งเป็นกระบวนการฝึกพื้นฐานด้านภาษา

ครูสอนไม่ตรงวิชา-ขาดครูแนะแนว

ปัญหาการอ่านภาษาไทยของนักเรียนในโรงเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้น ครูผู้สอนก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน

การขาดแคลนครูผู้สอน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ แต่โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่าพื้นที่อื่นด้วยปัจจัยความไม่สงบที่เข้ามาซ้ำเติม ทำให้ครูไม่ต้องการมาทำงานในพื้นที่ แต่ละโรงเรียนจึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กจะใช้วิธีการเรียนรวมชั้น ทำให้เด็กได้ครูผู้สอนที่ไม่ตรงตามสาขา ไม่มีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน ทำให้เด็กได้รับความรู้ทางวิชาการ น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา นายวสันต์ สาและอาแร ผู้อำนวยการโรงเรียนเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการให้แต่ละโรงเรียนจัดหาครูอัตราจ้าง เข้ามาสอนในรายวิชาที่ขาดแคลนได้ แต่ก็มีปัญหา คือ เมื่อครูสอบบรรจุเข้ารับราชการได้ ก็อาจต้องย้ายไปพื้นที่อื่น ที่สำคัญก็คือ การขาดแคลนครูแนะแนวที่จะช่วยมองความถนัด ความชอบ และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้ค้นพบความสามารถในการพัฒนาตนเองต่อไป

น.ส.อมราภรณ์ ขุนแผ้ว ครูแนะแนวโรงเรียนนราธิวาส จ.นราธิวาส ระบุว่า งานแนะแนวมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นตัวชี้อนาคตให้เยาวชนในพื้นที่ รวมถึงยังสามารถชี้ช่องทางสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มนักเรียนที่ยากจนและขาดโอกาสได้

“จำเป็นต้องสร้างแบบอย่างให้เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นว่า เด็กสามารถเป็นอย่างที่ต้องการจะเป็นได้ ซึ่งโรงเรียนได้เชิญศิษย์เก่า รุ่นพี่ที่ประกอบอาชีพมาเล่าประสบการณ์และช่วยชี้ทางให้รุ่นน้องได้เดินตามในหลากหลายอาชีพ เช่น แอร์โฮสเตส นักบิน หรืออาชีพอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจ และช่วยให้เห็นว่าเด็กต่างจังหวัดก็ทำได้” น.ส.อมราภรณ์ กล่าว

แต่กลับเป็นว่า ในโรงเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีครูแนะแนวน้อยมาก บางโรงเรียนมีเพียง 1 คน หลายโรงเรียนไม่มีครูแนะแนวเลย จึงให้ครูที่สอนวิชาอื่นมาทำหน้าที่แนะแนวด้วย ซึ่งแก้ปัญหาไปได้บ้าง แต่ไม่ดีนัก เพราะการแนะแนวต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และครูทุกคนต่างก็มีภาระงานสอนที่ค่อนข้างมากอยู่แล้ว

ความเสี่ยงในพื้นที่ ตัดโอกาสพัฒนาเด็ก

ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปีที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมนอกเวลาเรียน เพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ให้นักเรียน

แม้ว่าปัจจุบันการรักษาความปลอดภัยครูจะดีขึ้น แต่โรงเรียนก็ไม่สามารถจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียนหรือค้างคืนที่โรงเรียนได้มากนัก เพราะอาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ เช่น การซ้อมกีฬา ซ้อมดนตรี หรืออื่นๆ จึงไม่สามารถทำได้

นายอนิรุธ เมาะแล ผู้ฝึกสอนนักกีฬาฟุตซอลและครูโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ระบุว่า เยาวชนในพื้นที่ชอบเล่นกีฬามาก โดยเฉพาะกีฬาฟุตซอลและฟุตบอล แต่ด้วยเหตุความไม่สงบ การซ้อมกีฬาในช่วงเย็นจึงทำได้ยาก เพราะหากให้นักเรียนกลับบ้านเย็นมากก็อาจไม่ปลอดภัย จึงต้องซ้อมตอนเช้าหรือเลิกซ้อมในเวลาที่ไม่เย็นมากนัก

น.ส.นงนุช กั้งยอด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเปล อ.เมือง จ.นราธิวาส ระบุว่า ขณะที่การทำกิจกรรมในวิชาอื่นๆ เช่น ลูกเสือ เนตรนารี หรือออกค่ายวิชาการต่างๆ ก็ไม่สามารถค้างคืนที่โรงเรียนได้ โรงเรียนหลายแห่งจึงต้องเดินทางไปจัดกิจกรรมนอกพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.สงขลา หรือในค่ายทหารเพื่อความปลอดภัย แต่การจัดกิจกรรมนอกพื้นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น โรงเรียนแต่ละแห่งจึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิ บริษัทเอกชน ไปจนถึงหน่วยงานต่างๆ

เด็กเหนื่อยต้องเรียนวิชาการเพิ่ม

เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นับถือศาสนาอิสลาม ครอบครัวจึงเน้นให้เรียนศาสนาเพื่อขัดเกลาให้เป็นคนดีควบคู่ไปกับการเรียนสายสามัญ บางครอบครัวก็ให้เน้นเรียนศาสนามากกว่า หลักสูตรการเรียนการสอนจึงต้องปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

นายประภาส ผู้อำนวยการโรงเรียนนราธิวาส ระบุว่า การจัดการเรียนการสอนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและหลักศาสนา เช่น วิชาการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน เพื่อให้นักเรียนที่เป็นชาวไทยมุสลิมศึกษาด้านศาสนาไปพร้อมกับการเรียนด้านวิชาการได้

ขณะที่การแข่งขันการเรียนในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา จะเน้นการสอบด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว เด็กจึงต้องเพิ่มเวลาเรียนวิชาการมากขึ้น บางโรงเรียนจัดเวลาสอนเพิ่มเติมให้ในวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กบางคนเลือกเรียนพิเศษเพิ่มเติม

ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพยายามแก้ไขหากหวังยกระดับคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้นโดยเน้นในเชิงคุณภาพและแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากขึ้น

“ยาบ้า-ใบกระท่อม” ระบาดหนัก

นอกจากปัญหาการเรียนการสอน ขาดแคลนครู การเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้แล้ว การแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนของเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างมาก

นายนิเดร์ วาบา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา จ.ปัตตานี ให้ข้อมูลว่า บางครั้ง คนขายยาเสพติดมาดักรอนักเรียนเพื่อขายยาเสพติด ครูจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลเด็กนักเรียน เพราะปัญหายาเสพติดส่งผลต่อการเรียนของนักเรียนโดยตรง

“ยาเสพติดน่ากลัวมาก เพราะทำลายสมองเด็ก ต้องมีการกวดขันกันมากขึ้น” นิเดร์ วาบา ระบุ

ขณะที่ พ.ต.ท.ทรงพล จุ๋ยมณี รอง ผกก.สส.สภ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ระบุว่า ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างรุนแรง ทั้งใบกระท่อมและยาบ้า และโดยเฉพาะใบกระท่อมที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เจ้าหน้าที่พบว่าเยาวชนอายุ 14 -15 ปี กว่า 90 เปอร์เซนต์เคยลองหรือผ่านการเสพยาเสพติดประเภทนี้มาแล้ว

นอกจากคุณภาพการศึกษาทางวิชาการที่ด้อยกว่ามาตรฐานแล้ว เด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีโอกาสเรียน ก็มักจะเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยในประเทศมุสลิม เช่น อียิปต์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบียและปากีสถาน เนื่องจากเป็นการเรียนการสอนตามแบบวิถีชีวิตมุสลิมและบางส่วนได้รับทุนการศึกษา

แต่ผู้ที่ไปเรียนต่อในต่างประเทศบางส่วนก็มีปัญหา โดยเฉพาะสาขาแพทย์เนื่องจากหน่วยงานของไทยไม่ได้รับรองจึงไม่สามารถสอบใบประกอบโรคศิลป์ได้

นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการสำนักการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวถึงปัญหาที่นักศึกษาในจังหวัดชายภาคใต้ที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศไม่สามารถกลับมาประกอบอาชีพในไทยได้ว่า สช.พยายามประสานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อให้รับรองคุณวุฒิของผู้ที่ศึกษาจบในสถาบันต่างประเทศที่ได้มาตรฐาน รวมถึงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป

 

ทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคในเส้นทางการศึกษาที่เด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้น แม้ว่ารัฐบาลจะทุ่มงบประมาณมหาศาลลงไปเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ มากว่า 10 ปี แต่ถึงวันนี้ ยังไม่พบทางออกที่เป็นรูปธรรมชัดเจนนัก โรงเรียนหลายแห่งยังขาดแคลนครู นักเรียนยังมีผลการเรียนที่แตกต่างจากนักเรียนในภาคอื่น ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็กในพื้นที่ก็ยังเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน แม้แต่ปัญหาพื้นฐานในเรื่องยาเสพติดระบาด ก็ยังเป็นอุปสรรคที่ต้องระแวดระวัง

แม้หลายคนที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ รัฐบาลไทยก็ยังไม่รับรองคุณวุฒิ

หากนักเรียนสักคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ จนสามารถจบการศึกษาและกลับไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น เขาหรือเธอย่อมเป็นคนที่มีคุณภาพมากคนหนึ่งของสังคม

เฉลิมพล แป้นจันทร์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง