รู้จัก "อัญชนา หีมมิหน๊ะ" สู้ด้วยใจเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

ภูมิภาค
26 ก.ค. 59
19:16
9,753
Logo Thai PBS
รู้จัก "อัญชนา หีมมิหน๊ะ" สู้ด้วยใจเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
มีบ้างบางครั้งที่ อัญชนา หีมมิหน๊ะ นึกอยากจะมีชีวิตที่ง่ายกว่านี้ ทุ่มเวลาให้กับการทำธุรกิจส่วนตัวซึ่งตอนนี้มีทั้งร้านขายผ้าและร้านคาร์แคร์ อยากเก็บเงินสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างที่ผู้หญิงวัย 40 ต้นๆ คนอื่นเขาทำกัน แต่เธอมาไกลเกินกว่าจะถอยหลังกลับแล้ว

ยิ่งเมื่อถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจ้งความดำเนินคดีพร้อมกับเพื่อนนักสิทธิมนุษยชนอีก 2 คน คือ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ สมชาย หอมลออ ในข้อหาหมิ่นประมาทและนำข้อความอันเป็นเท็จเผยแพร่ทางคอมพิวเตอร์จากการจัดทำและเผยแพร่รายงานการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อัญชนาหรือ "ตัส" นักกิจกรรมวัย 43 ปี บอกว่าเธอยิ่งต้องเดินหน้าต่อเพื่อพิสูจน์เจตนาบริสุทธิ์ในการทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคง

26 ก.ค.2559 อัญชนาเดินทางจากบ้านใน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา มารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองปัตตานี ท่ามกลางประชาชนและนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจ ขณะที่องค์กรสิทธมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศต่างออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน

"ในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาได้ทำให้ข้าพเจ้าระงับอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทั้งความวิตกกังวล ความตกใจ ความเสียใจเมื่อความตั้งใจในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนของข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมงานได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นว่าเป็นความตั้งใจที่มุ่งร้าย ทำร้าย แต่เมื่อมีการช่วยเหลือ สนับสนุนและแสดงกำลังใจจากหลายคน หลายองค์กรทั้งในและนอกประเทศ ก็ทำให้ข้าพเจ้าพร้อมที่เผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เพราะข้าพเจ้าและคนรอบข้างย่อมรู้ดีว่าข้าพเจ้ามีความคิดเช่นไร ทำงานเพื่ออะไร" อัญชนาเขียนในเฟซบุ๊กของเธอ 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

จุดเริ่มต้น

อัญชนาเกิดในครอบครัวข้าราชการครู พ่อและแม่เป็นครูที่ได้รับความนับถือใน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน เป็นผู้หญิงทั้งหมดและเธอเป็นลูกคนที่ 3 อัญชนาสอบเข้าคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ตามความใฝ่ฝันที่อยากเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้หญิงเพราะ "เท่ดี" หลังจากนั้นก็เรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่ มก.และเข้าทำงานที่บริษัทเอกชนอยู่หลายปี แม้จะไม่ได้เลือกทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แต่ก็ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาอยู่บ้าง ปี 2548 อัญชนาตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน เปิดร้านล้างอัดฉีดที่มีทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจเป็นลูกค้า

แม้จะอยู่ใน อ.สะบ้าย้อย ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลาที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยครั้ง แต่อัญชนายอมรับว่าไม่เคยสนใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการรับฟังข่าวสารจากสื่อกระแสหลัก ทำให้เธอคิดว่าปัญหาภาคใต้เกิดจากคนมุสลิมบางคนที่นิยมความรุนแรง

จุดเปลี่ยน

ปี 2551 "ปัทมา" น้องสาวคนสนิทของอัญชนาแต่งงาน แต่สองเดือนหลังจากนั้นสามีของปัทมาก็ถูกอุ้มหายตัวไปนานหลายชั่วโมงก่อนจะมาเจอตัวที่สถานีตำรวจในสภาพที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยฆ่าคนไทยพุทธในสวนยาง เขาถูกตั้งข้อหาเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ซ่องสุมกำลัง พกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ ฆ่าคนตายและพยายามฆ่า

สิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องเขยนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตของอัญชนา

"เราไม่เข้าใจว่าน้องเขยของเราซึ่งช่วยงานอยู่ที่ร้านล้างรถอยู่ดีๆ จะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงได้ยังไง เขาหายจากร้านไปนานหลายชั่วโมง เราสืบจนได้ความว่ามีลูกค้าที่เป็นตำรวจทำทีมาล้างรถและให้น้องเขยเอารถไปส่ง จากนั้นก็หายตัวไปจนมาเจอตัวอีกทีที่โรงพัก เราพยายามขอประกันตัว ตำรวจบอกว่าประกันตัวได้ แต่ศาลไม่ให้ประกัน เราก็กลับไปโวยวายกับตำรวจ เขาก็อธิบายกฎหมายให้ฟัง เราก็บอกกับเขาว่าถ้าอย่างนั้นจะขอกลับไปศึกษากฎหมายก่อนแล้วจะกลับมาใหม่"

นับตั้งแต่นั้นมา อัญชนาไม่เคยหยุดศึกษากฎหมาย เธอตั้งใจว่าจะช่วยเหลือน้องเขย เพราะจากข้อมูลพื้นฐานคดีทำให้เชื่อได้ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถูกผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งซัดทอดมา

"ถ้าสู้คดีไปแล้วพบว่าเขาผิดจริง เราก็จะไม่ปกป้อง แต่ถ้าเขาบริสุทธิ์เราก็ต้องช่วยอย่างเต็มที่ และเราคงรู้สึกผิดไปตลอดถ้าปล่อยให้คนที่บริสุทธิ์ต้องถูกพิพากษาประหารชีวิต"

ระหว่างการต่อสู้คดีของน้องเขย อัญชนาและครอบครัวต้องพบปัญหามากมาย ทั้งโดนทนายหลอกเอาเงิน ญาติและคนในชุมชนตราหน้าว่าช่วยเหลือแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการสู้คดี

"ช่วงหลังเราใช้วิธีไปร่วมตามงานเสวนาที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลาเขาเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานพูด เราก็จะเล่าถึงคดีของน้องเขยว่าเราพบกับความไม่เป็นธรรมและปัญหาอะไรในกระบวนการยุติธรรมบ้าง จำได้ว่าในเวทีสันติภาพที่ จ.ยะลา ซึ่งนายพระนาย สุวรรณรัตน์ เลขาฯ ศอ.บต.ในขณะนั้นมาพูดถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ดูดีมาก เราก็ลุกขึ้นพูดเลยว่าที่เราเจอมาไม่เป็นอย่างที่คุณพูดเลย"

อัญชนาและปัทมาใช้เวลา 2 ปี ในการบอกเล่าเรื่องราวความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอในเวทีสาธารณะจนได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาที่มีการติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการต่อสู้คดี จนในที่สุดศาลยกฟ้องน้องเขยและเขาได้รับการปล่อยตัวในปี 2553

ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องน้องเขยไม่นาน อัญชนาและปัทมาตัดสินใจตั้งกลุ่ม "ด้วยใจ" ขึ้นมาโดยตั้งใจว่าจะทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่งคงรวมทั้งครอบครัวของพวกเขา เพราะจากการต่อสู้คดีทำให้ทั้งสองพบกับผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงที่ประสบปัญหาต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมมากมาย

"เรารวบรวมเงินจากเพื่อนๆ มาได้ 80,000 บาท เอามาทำกิจกรรมเยี่ยมครอบครัวผู้ต้องขัง หลังจากนั้นก็ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศ ต่างประเทศและสถานทูต ส่วนชื่อกลุ่มนั้นคุณลุงเป็นคนตั้งชื่อให้ เป็นคำกว้างๆ ที่ไม่จำกัดว่าเราจะต้องทำงานในประเด็นไหน เราอยากทำเรื่องอะไรก็ได้ที่เราทำด้วยใจ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษาเด็กกำพร้า การคุ้มครองเด็ก ให้ทุนครอบครัวผู้ต้องขังเพื่อประกอบอาชีพ ต่อต้านการซ้อมทรมาน แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง"

การทำงานช่วงที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่เธอรู้สึกอ่อนแอและร้องไห้ แต่ไม่ใช่เพราะปัญหาที่ตัวเองพบ หากแต่เป็นเพราะอัญชนารู้สึกว่าเธอช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำได้ไม่เต็มที่

"เวลาที่เราถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ที่เป็นเหยื่อ บ่อยครั้งจะร้องไห้ เพราะรู้สึกอึดอัดใจที่ถ่ายทอดออกมาได้ไม่หมดหรือไม่ดีพอ และรู้สึกว่าตัวเองช่วยอะไรเขาไม่ได้ แต่ตอนหลังก็เรียนรู้ที่จะไม่เก็บมาคิด รู้จักปล่อยวาง คิดแต่เพียงว่าทำให้ดีที่สุด อันไหนที่เกินกำลัง ทำไม่ได้ก็ส่งต่อให้คนอื่นช่วย"

จุดหมายปลายทาง

การถูก กอ.รมน.แจ้งความดำเนินคดี เป็นเหมือนคลื่นลูกที่สองที่โถมใส่ครอบครัวนี้ ปัทมา น้องสาวคนสนิทของอัญชนาถึงกับร้องไห้เมื่อเปิดจดหมายและพบว่าเป็นหมายเรียกพี่สาวไปรับทราบข้อกล่าวหา สองพี่น้องพยายามปิดข่าวไม่ให้แม่รู้ เพราะกลัวจะเครียด แต่แม่ก็รู้จากการอ่านหนังสือพิมพ์

"ไม่มีใครอยากโดนฟ้องหรอก แต่ด้วยเจตนาของเราที่มีความประสงค์ที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก เรามีความมุ่งมั่นที่จะไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างการคุมขัง เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ขับเคลื่อนความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจึงตั้งใจว่าจะต้องยุติปัญหานี้ หรือทำให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด เพราะถ้าไม่ทำอะไรสถานการณ์ภาคใต้อาจจะกลับไปสู่จุดที่รุนแรงอีก" อัญชนากล่าว

 

แม้จะมีความกังวลเรื่องคดี อีกทั้งต้องดูแลสภาพจิตใจของแม่ที่สุขภาพไม่ค่อยดีในวัย 75 ปี บางครั้งก็ต้องรับแขกที่ไม่ได้เชิญ อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่แวะมา "เยี่ยม" ที่บ้านตอนค่ำขณะที่แม่อยู่คนเดียวแต่อัญชนาก็ยืนยันว่าจะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อไปเพื่อพิสูจน์ถึงเจตนาบริสุทธิ์

"เพราะปัญหายังไม่หมดไป ยังมีสิ่งที่เราอยากแก้ไข การถูก กอ.รมน.ฟ้องร้องครั้งนี้ก็ทำให้เรารู้สึกแย่ ครอบครัวเราก็แย่ แต่ถ้าเราหยุดทำงานด้านนี้ก็จะตรงกับสิ่งที่ฝ่ายรัฐต้องการ คือให้เราหยุดเคลื่อนไหว แต่ทุกวันนี้ยังมีคนที่ยากลำบาก เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะหยุด สักวันหนึ่งเขาจะต้องเห็นว่าเจตนาที่แท้จริงของเราคืออะไร"

กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง