"อภิสิทธิ์" แถลงย้ำไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ไม่แก้ปัญหาเดิม-ปราบทุจริตยาก

การเมือง
27 ก.ค. 59
14:58
1,388
Logo Thai PBS
"อภิสิทธิ์" แถลงย้ำไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ไม่แก้ปัญหาเดิม-ปราบทุจริตยาก
"อภิสิทธิ์" แถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ไม่แก้ปัญหาเดิม-ปราบทุจริตยาก หากประชามติไม่ผ่านเสนอ นายกฯ ดำเนินการตามโรดแมป หยิบรัฐธรรมนูญปี 2550 มาปรับแก้

วันนี้ (27 ก.ค.2559) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงจุดยืนในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค. 2559 โดยให้เหตุผล 3 ข้อ คือ

1.หมวดสิทธิ เสรีภาพและบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีน้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ประเด็นเรื่องสิทธิของผู้บริโภค สิทธิของชุมชน สิ่งแวดล้อม การได้รับความช่วยเหลือด้านกฎหมาย รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความก้าวหน้าและไม่ชัดเจนอย่างที่เคยบัญญัติไว้ในปี 2550 และเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายมาจำกัดขอบเขตของสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมหรือสวัสดิการของรัฐ นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญยังจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศนี้ ขณะที่มีการขยายบทบาทของภาคราชการ

2.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถแก้ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานได้ แต่กลับจะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งต่อไปในอนาคต เนื่องจากกลไกที่วางไว้ โดยเฉพาะการให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คนมาจากการเลือกกันเองและการแต่งตั้งที่ไม่เป็นตัวแทนของประชาชนมาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลและแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งจะเป็นการสร้างคู่ขัดแย้งใหม่ทางการเมืองขึ้น

3.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้การปราบทุจริตคอรัปชั่นอ่อนแอลง โดยเฉพาะจากการยกเลิกกระบวนการถอดถอนนักการเมืองที่ทุจริต และการทำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกาแผนกคดีทางอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่อนแอลง คือ ทำให้การตรวจสอบ ป.ป.ช.ทำได้ยากขึ้น และทำให้นักการเมืองที่ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินในคดีทุจริตอุทธรณ์ได้ง่ายขึ้น

"โจทย์ทั้ง 3 ข้อที่ผมใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณานี้ให้คำตอบว่า ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้...ผมไม่รับเพราะผมเห็นว่าร่างนี้มันไม่ตอบโจทย์ประเทศ มันไม่สามารถเป็นกติกาถาวรที่เอื้อให้ประเทศไทย ก้าวพ้นจากสภาพปัญหาเดิมๆ ได้ นั่นคือเหตุผลที่ผมจึงไม่รับ" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ยังได้กล่าวถึงการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.2559 เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างผิดปกติ

"กระบวนการประชามติที่ทำอยู่ในขณะนี้ก็เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างจะผิดปกติ ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางซึ่งเราเคยปฏิบัติกันมาจนทำให้เกิดความตึงเครียด เห็นว่ามีการจับกุม มีการใช้วิธีที่มันไม่ปกติจากหลายๆ ฝ่าย แล้วก็จะนำมาสู่ประเด็นข้อโต้แย้งไม่จบไม่สิ้นว่า ฝ่ายที่มีความเห็นที่หลากหลายต่างๆ นี้ได้รับความเป็นธรรม และได้รับพื้นที่ในการแสดงออกหรือไม่ จึงทำให้ความชอบธรรมที่พึงจะเกิดจากการประชามติครั้งนี้มันไม่เกิดขึ้นอย่างที่หลายคน โดยเฉพาะผมซึ่งเสนอให้มีการจัดทำประชามตินั้นคาดหวังไว้"

นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้้พูดในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และหากไม่ผ่านประชามติเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามโรดแมปที่วางไว้ และนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาปรับแก้ เนื่องจากผ่านการลงประชามติแล้ว

"ถึงรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คสช.และพล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องรับผิดชอบปัญหาของบ้านเมือง ต้องเดินตามโรดแมปและรัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่ แต่มันเป็นโอกาส และกุญแจสำคัญที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ให้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับนี้ให้ประชาชนและสังคม" นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

คำต่อคำ: อภิสิทธิ์ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ภายหลังการแถลงข่าว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง พรรคประชาธิปัตย์ได้เผยแพร่เนื้อหาคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ แบบคำต่อคำ ดังนี้

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับการแถลงข่าวของผมในวันนี้ ซึ่งผมก็จะใช้เวลาในการพูดถึง 4 เรื่องหลักๆ ก็คือ ที่มาที่ไป วัตถุประสงค์ของการแถลงในวันนี้ ประเด็นที่ 2 ก็คือเรื่องของจุดยืนที่จะมีต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนจะไปใช้สิทธิ์กันในวันที่ 7 สิงหาคม เรื่องที่ 3 ก็คือประเด็นหลังวันที่ 7 สิงหาคม แล้วก็เรื่องสุดท้ายก็จะเป็นการพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานต่อไปของผม และของพรรคประชาธิปัตย์

ขอเริ่มจากการแถลงข่าวในวันนี้ สิ่งแรกก็คือผมคิดว่าหลายท่านก็คงจำได้ว่าเมื่อมีการจัดทำ รัฐธรรมนูญเสร็จ แล้วก็มีการเตรียมการจัดให้มีการลงประชามติ ผมได้เคยแถลงข่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยในวันนั้นได้ยืนยันว่า ผมไม่รับคำถามพ่วง ซึ่งวันนี้ก็คงจะไม่ต้องพูดถึงประเด็นนั้นอีกแล้ว และผมใช้คำว่าผมไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในวันนั้นเมื่อถูกสอบถามว่าหมายความว่าจะรับ หรือไม่รับ ผมก็ได้พูดเอาไว้ว่า ผมยังต้องการที่จะเห็นทางเลือกที่ชัดเจนว่าในกรณีที่ไม่รับแล้วจะเป็นอย่างไร รวมไปจนถึงต้องการให้มีบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่นำไปสู่ปัญหาความวุ่นวายขัดแย้ง เพราะไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะไปเติมความขัดแย้งตรงนั้น แต่ว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไปอีกพอสมควร ใกล้วันที่จะลงประชามติก็พร้อมที่จะมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

การแถลงของผมในวันนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน มันไม่สามารถที่จะเป็นมติพรรคได้ เนื่องจากว่าพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในปัจจุบันนี้ไม่สามารถที่จะประชุมได้ การที่อะไรจะเป็นมติพรรค ก็จำเป็นจะต้องผ่านการประชุม และความเห็นชอบของสมาชิกตามระบบข้อบังคับของพรรค และโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการมีส่วนรวมของสมาชิกมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้มองว่าสิ่งที่ผมจะแถลงต่อไปนี้ มันเป็นเรื่องของความคิดเห็นส่วนตัว มันเป็นความ มันเป็นจุดยืนที่ผมแสดงในฐานะหัวหน้าพรรค บนพื้นฐานของอุดมการณ์พรรค และการดำเนินการของพรรคมาตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ.2489 จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นความชอบ ไม่ชอบส่วนตัวของผม แต่เป็นการสานต่ออุดมการณ์ที่สำคัญ

ก่อนขึ้นบันไดมาที่ห้องแถลงข่าวชั้น 3 นี้ ผมเดินผ่านคำพูดของอดีตหัวหน้าพรรคท่านนึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ได้กล่าวเอาไว้ถึงการปกครอง การบริหาร การใช้อำนาจว่าจะทำด้วยการใช้อำนาจ ใช้อามิส หรือใช้อุดมคติ และส่วนสำคัญของคำกล่าวของท่านก็คือว่า อุดมคติเท่านั้นที่จะยั่งยืนอยู่ได้ แม้ตัวผู้ปกครองจะล้มหายตายจากไป สัจจะตามอุดมคติจะยังอยู่ เพราะฉะนั้นจุดยืนที่ผมได้แถลงต่อไปนี้ ผมถือว่าเป็นการยืนยันและสืบสานอุดมคติ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ผมอยากจะเรียนว่าแม้วันนี้ความสนใจอยู่ที่เรื่องของรัฐธรรมนูญ แต่จุดยืนที่ผมจะแถลงต่อไปนั้น ผมได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของบ้านเมืองเรา ประเทศของเรา มากกว่าเฉพาะเรื่องของรัฐธรรมนูญ และวันที่ 7 สิงหาคมที่จะมาถึง เพราะว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องการที่สุด และผมว่าไม่ว่าใครจะมีความคิดเห็นอย่างไรในประเทศไทยก็คือว่า ทุกคนในขณะนี้ต้องการให้ประเทศของเราเดินไปข้างหน้า ก้าวให้พ้นสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ และดำรงอยู่มาเกิน 10 ปีแล้ว ที่วิกฤติทางการเมืองปัญหาความขัดแย้งในสังคม ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาไปตามศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของเราได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยอีกเป็นจำนวนมากยังต้องอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก อยู่กับปัญหาความยากจน หนี้สิน เพราะประเทศไม่สามารถก้าวพ้นจากวิกฤติทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไม่สามารถพัฒนาแล้วก็ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนคนไทยจำนวนมากได้

ผมได้ใช้เวลาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ แล้วก็คิดว่าประเทศไทยต้องสามารถก้าวข้าม ก้าวพ้นสภาพปัญหาที่ดำรงอยู่ให้ได้ครับ มิฉะนั้นแล้ว สิ่งที่เรามาพูด มาถกเถียงขัดแย้งกันอยู่นี้ จะไม่มีวันจบสิ้น การจะได้คำตอบว่าเราควรจะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แม้แต่การที่จะมาหาคำตอบว่า พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคการเมืองต่างๆ ควรจะมีแนวทางอย่างไรนั้น มันควรจะต้องมาย้อนกลับมาตอบคำถามซึ่งเป็นโจทย์ของประเทศ จุดยืนวันนี้นอกจากที่จะอิงอยู่กับเรื่องของอุดมการณ์ อุดมคติแล้ว คือจุดยืนที่ต้องการแสวงหาคำตอบให้กับอนาคตของประเทศไทยอย่างแท้จริง นี่คือประเด็นแรกที่อยากจะเรียน

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องถามว่า แล้วอะไรคือสภาพปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ผมก็สรุปมา 3 ประเด็นหลัก ประเด็นที่ 1 ก็คือ เราจะกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศอย่างไร ความหมายก็คือว่า รัฐธรรมนูญ หรือกติกาของบ้านเมืองจะส่งผลให้ทิศทางของประเทศเดินไปในทางไหน และเป้าหมายที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดวันนี้ก็คือเราต้องทำให้ระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจ มันตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ หรือคนทุกคนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือบรรดาคนที่ด้อยโอกาส ไม่ค่อยมีสิทธิ์ มีเสียง ยากจน ซึ่งถ้าเราสามารถตอบโจทย์นี้ได้ คือทำให้คนที่อ่อนแอที่สุด ด้อยโอกาสที่สุด ยากจนที่สุด มีความเข้มแข็งขึ้นมาได้ ผมมั่นใจว่านั่นจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งที่สุดสำหรับประเทศไทย และเศรษฐกิจไทยที่จะมีความยั่งยืนด้วย ฉะนั้นโจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 1

อันดับที่ 2 ก็คือเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ที่บ้านเมืองเข้ามาสู่สภาพวิกฤตินี้ ปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดปัจจัยนึงก็คือการทุจริต คอร์รัปชั่น การใช้อำนาจในทางที่ผิด ไม่ว่ารัฐบาลที่ใช้อำนาจนั้นจะมาด้วยวิธีใด ได้ส่งผลให้มันเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลกับประเทศ ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เราจึงต้องการตอบโจทย์ว่าเราจะหลุดพ้นจากสภาพปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่นได้อย่างไร

และโจทย์ข้อที่ 3 ก็คือว่า คนไทยคงไม่ต้องการเห็นวัฎจักรของความขัดแย้งทางการเมืองอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรัฐประหาร การชุมนุมประท้วง การใช้ความรุนแรง การสร้างความเกลียดชังที่เกิดขึ้น นี่คือโจทย์ 3 ข้อที่ผมใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเราควรจะกำหนดท่าทีต่อรัฐธรรมนูญ และอนาคตของประเทศต่อไปอย่างไร

เมื่อเป็นเช่นนี้ผมก็จะขอไล่ไปในแต่ละประเด็นว่า รัฐธรรมนูญที่ได้มีการจัดทำขึ้นนี้ตอบโจทย์เหล่านี้หรือไม่ ผมเชื่อครับว่า ปัญหาเหล่านี้ก็อยู่ในใจของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ของ คสช. ของรัฐบาล และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้มีการจัดทำขึ้น แต่ประเด็นที่เราต้องมาประเมินก็คือว่า แม้มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อที่ว่านี้ รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมานี้ได้ตอบโจทย์เหล่านี้เพียงพอ ถูกต้องหรือไม่

สำหรับผมแล้วในข้อแรก ผมเชื่อว่าทิศทางการพัฒนาของประเทศที่จะยั่งยืนได้สามารถตอบสนองความต้องการของคนทุกคนในประเทศได้นั้น หนีไม่พ้นการอาศัยหลักการประชาธิปไตย ความหมายของหลักการประชาธิปไตยตรงนี้ ผมจะไม่ไปพูดถึงปัญหาระบบเลือกตั้ง ผมจะไม่ไปพูดถึงคนนอก คนใน ผมจะไม่ไปพูดเกี่ยวกับเรื่องวาทกรรมใดๆ ทั้งสิ้นในทางการเมือง แต่ความหมายของประชาธิปไตยตรงนี้ก็คือว่า เราเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตของประเทศมากน้อยแค่ไหน และถ้าพี่น้องประชาชนของเราที่อยู่บนความยากลำบาก เรามีหลักประกันให้กับเขาเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหนที่จะได้รับสวัสดิการ ที่จะได้รับการคุ้มครอง ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ์จากรัฐ จากคนที่มีกำลังมากกว่าในสังคม
นอกจากนั้นผมยังมีความเชื่อตามอุดมการณ์ของพรรคฯ ว่าทิศทางการพัฒนาประเทศที่หลีกหนีไปไม่พ้นนอกจากเรื่องของประชาธิปไตยแล้วก็คือจะต้องมีการกระจายอำนาจ ไปสู่ชุมชน ไปสู่ท้องถิ่น ที่จะทำให้ประชาชนในแต่ละชุมชน และแต่ละท้องถิ่น ซึ่งนับวันมีปัญหาและความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น สามารถที่จะแก้ปัญหาของตัวเองได้

ผมต้องเรียนว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นนี้ไม่ได้เดินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวคิดนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ในหมวดสิทธิ เสรีภาพ และในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้หลักประกันแก่พี่น้องประชาชนนั้นน้อยกว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งคือฉบับที่ใช้อยู่ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่จะได้รับความช่วยเหลือในด้านกฎหมาย หรือแม้กระทั่งสวัสดิการต่างๆ ก็ไม่ได้สามารถเขียนให้เกิดความก้าวหน้าอย่างชัดเจนที่จะได้รับบริการจากรัฐในลักษณะที่เคยบัญญัติไว้ในปี 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือวิธีเขียนของรัฐธรรมนูญฉบับร่าง เป็นวิธีที่เปิดโอกาสให้กับรัฐบาล หรือรัฐในอนาคตสามารถออกกฎหมายมาตีกรอบ มาบัญญัติขอบเขตของสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมหรือสวัสดิการเหล่านี้ได้

นอกจากนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าบทบาทในการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมแสดงออกทั้งผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง และกระบวนการอื่นๆ ที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศนี้ ก็ถูกจำกัดลงโดยบทบัญญัติที่มีการขยายบทบาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือของภาคราชการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมมองว่า โอกาสที่รัฐธรรมนูญ จะเป็นเครื่องมือในการที่จะทำให้ประเทศมีการพัฒนาก้าวหน้า ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมไปถึงที่จะให้รัฐบาลหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และมีความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงในกรณีที่สถานการณ์ของโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะเป็นไปได้ยากมาก

ผมจึงมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่สามารถตอบโจทย์ที่จะทำให้ทิศทางการพัฒนาประเทศนั้นก้าวพ้นสภาพปัญหาต่างๆ ถ้าคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องนามธรรม ผมอยากจะบอกว่าสภาพปัญหาอย่างเช่นเรื่องเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้ และรวมทั้งในบางยุคที่ผ่านมาด้วย มันน่าจะบ่งบอกอยู่ว่ามันไม่ใช่เรื่องนามธรรม รัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจดี มีความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมไม่ทราบว่าไม่รู้กี่รอบแล้ว และผมก็เห็นใจว่าทำงานอยู่ภายใต้ความยากลำบากในเรื่องของภาวะของเศรษฐกิจโลก แต่ต้องยอมรับครับว่า ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ต้องทำธุรกิจกับต่างประเทศ ล้วนแล้วได้รับผลกระทบทั้งสิ้นจากข้อจำกัดที่เกิดขึ้น แม้จะจำเป็นในการรักษาความมั่นคง แต่ไปกระทบกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายและกลไกของประชาธิปไตยที่ทำให้รัฐบาลสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีกว่า

ในประเด็นที่ 2 ในเรื่องของความขัดแย้ง ถึงที่สุดแล้วความขัดแย้งในสังคมจะต้องแก้ด้วยกระบวนการหลัก 2 กระบวนการ คือ 1. กระบวนการทางการเมือง ซึ่งเป็นประชาธิปไตย กับ 2. คือกระบวนการยุติธรรม และระบอบประชาธิปไตยนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้ง และเสียงข้างมาก แต่มีการกำหนดบทบาทขององค์กรต่างๆ ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสม หลักง่ายๆ ก็คือว่า ประชาชนเขาจะเป็นคนกำหนดว่าใครมาบริหารประเทศ แต่คนที่จะมาบริหารประเทศนี้ต้องไม่ไปบริหารประเทศตามใจชอบ ลุแก่อำนาจ ก็คือต้องถูกควบคุมโดยกลไกที่มันมีความเหมาะสมโดยไม่ฝืนกับเจตนารมณ์ของประชาชน

ปัญหาที่สำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ก็คือว่าวางน้ำหนักการตรวจสอบถ่วงดุล หรือหวังที่จะใช้กลไกที่มาแก้ไขความขัดแย้งนี้ คือจากสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการเลือกกันเองในบทถาวร และจากการคัดเลือก และแต่งตั้งในบทเฉพาะกาล ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ต้องยอมรับความเป็นจริงครับว่า การเลือกกันเองคงไม่สามารถที่จะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำหรอกว่าเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง

ผมมองว่าการใช้กลไกนี้นอกจากจะไม่แก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่กลับจะเป็นการสร้างคู่ขัดแย้งใหม่ ทางการเมืองขึ้นในตัว 250 คนนี้ ผมจะไม่ลงไปในรายละเอียดแต่ว่าท่านนึงภาพก็แล้วกันครับว่า ไม่ว่า 250 คนนี้จะไปสนับสนุนคนที่เป็นเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ล้วนแล้วแต่จะเป็นปมให้เกิดความขัดแย้งใหม่ๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญก็คือว่ากติกาที่ถูกวางมาในครั้งนี้ยังเป็นกติกาที่แก้ยากมาก ไม่ใช่เฉพาะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกพรรคการเมืองนะครับ แต่ต้องได้เสียง 1 ใน 3 หรือสัดส่วนที่สูงพอสมควรจากคนที่มาจากการคัดเลือก หรือแต่งตั้ง หรือสรรหาตรงนี้ มันจึงจะเป็นตัวที่ทำให้บีบรัด แล้วก็ตีกรอบ ให้ความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตก็ไม่สามารถแก้ไขได้

ที่สำคัญก็คือว่า กระบวนการประชามติที่ทำอยู่ในขณะนี้นี่เอง ก็เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างจะผิดปกติ ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางซึ่งเราเคยปฏิบัติกันมาจนทำให้เกิดความตึงเครียด เห็นว่ามีการจับกุม มีการใช้วิธีที่มันไม่ปกติจากหลายๆ ฝ่าย แล้วก็จะนำมาสู่ประเด็นข้อโต้แย้งไม่จบไม่สิ้นว่า ฝ่ายที่มีความเห็นที่หลากหลายต่างๆ นี้ได้รับความเป็นธรรม และได้รับพื้นที่ในการแสดงออกหรือไม่ จึงทำให้ความชอบธรรมที่พึงจะเกิดจากการประชามติครั้งนี้มันไม่เกิดขึ้นอย่างที่หลายคน โดยเฉพาะผมซึ่งเสนอให้มีการจัดทำประชามตินั้นคาดหวังไว้

เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็หมายความว่าแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาแก้ความขัดแย้งได้ กลับจะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งต่อไปในอนาคต และอาจจะไม่ต่างจากเงื่อนไขความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในอดีตที่ห่างไกลกว่านั้นที่ประเทศไทยเคยผ่านมาแล้วด้วย โจทย์ในเรื่องของการหวังที่จะมีกลไกต่างๆ มาแก้ปัญหาความขัดแย้งตรงนี้ ผมจึงว่าจะไม่บรรลุ

สำหรับประเด็นที่ 3 ในเรื่องของการแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น จุดนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาว่าเป็นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และผมก็สนับสนุนบทบัญญัติหลายมาตรา ที่เกี่ยวกับการทุจริต คอร์รัปชั่นโดยเฉพาะก็คือการเพิ่มโทษ การเข้มงวดกวดขันในเรื่องของคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ามาสู่การเมือง แต่เราต้องมองการแก้ไขปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่นให้ครบวงจร เราจะเพิ่มโทษอย่างไรก็แล้วแต่การจับการทุจริตนั้นมันต้องเริ่มต้นจากบรรยากาศ และสภาวะแวดล้อมที่เปิด คือเป็นประชาธิปไตย ประชาชนเข้าถึงข้อมูล สามารถแสดงออก ตรวจสอบถ่วงดุลกันได้เต็มที่ มิฉะนั้นเราจะไม่รู้ตั้งแต่ต้นครับว่า มีใครไปทุจริต ไปโกง อยู่ที่ไหนอย่างไร

แต่ที่สำคัญก็คือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะจัดการกับปัญหานักการเมืองโกงได้เปลี่ยนแปลงวิธีการไปจากเดิม เดิมคือมีกระบวนการของการถอดถอน บวกกับการดำเนินคดีอาญา ในฉบับร่างฯ ได้ยกเลิกกระบวนการถอดถอนไปแล้ว และพึ่งกลไกหลักอยู่ 2 กลไกครับ คือ ปปช. กับ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งทั้ง 2 กลไกนี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับเดิม
ปัญหาที่ผมจะชี้ให้เห็นก็คือว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลับทำให้ 2 องค์กรนี้อ่อนแอลงในการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น ในกรณีของ ปปช. นั้น คือเราต้องไม่ลืมนะครับ คนมาทำหน้าที่นี้ให้คุณให้โทษ ชี้เป็นชี้ตายได้นั้น ต้องเป็นอิสระ และต้องมีความเที่ยงตรง ในอดีต เราเคยมี ปปช. ที่ไม่เที่ยงตรง หรือมีปัญหาการทำผิดกฎหมายหรือทุจริตเสียเองนะครับ แต่ในอดีต ปี 40 50 นั้น ช่องทางในการตรวจสอบ ปปช. ทำได้ไม่ยาก พรรคประชาธิปัตย์นี่แหละครับ เคยเริ่มต้นกระบวนการในการฟ้องร้อง ปปช. ชุดหนึ่งมาแล้วในอดีต แต่ใน รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ใครจะตรวจสอบ ปปช. จะต้องยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยปกติก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล แล้วประธานสภาผู้แทนราษฎร จะมีดุลพินิจสิทธิ์ขาดในการที่จะตัดสินใจว่าจะส่งเรื่องนั้นต่อไปที่ศาล เพื่อดำเนินคดี หรือดำเนินการหรือไม่

ผมคิดว่าประเด็นนี้กระทบกับความเป็นอิสระและความเข้มแข็งของกระบวนการตรวจสอบอย่างยิ่งครับ เพราะเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้มีอำนาจในฝ่ายรัฐบาล กับ ปปช. อยู่ในภาวะที่จะต่อรองกันครับ และฝ่ายที่จะตรวจสอบก็จะไม่มีช่องทางอื่นที่จะทำอะไรได้ นี่คือกรณีของ ปปช.

ส่วนกรณีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ซึ่งผมมองว่าแม้ในอดีตเราจะบ่นกันมากนะครับเรื่องความอ่อนแอของประเทศไทยในการจัดการกับปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น แต่นี่ก็เป็นศาลหนึ่งละครับ ที่สามารถพิพากษาจำคุกนักการเมืองได้ และมีความศักดิ์สิทธิ์พอสมควร แต่ใน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปเปลี่ยนแปลงกระบวนการตรงนี้ครับ เดิมถ้าศาลฎีกาศาลนี้พิพากษาว่าใครผิดใครโกง ผู้ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานใหม่เท่านั้น แล้วถ้าจะอุทธรณ์คนที่จะมาวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นคือที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาครับ เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ ว่านักการเมืองนี่จะกลัวศาลนี้เป็นพิเศษ แล้วก็มีแต่กลุ่มนักการเมืองที่ขึ้นศาลนี้เท่านั้นแหละครับที่ไม่พอใจกับบทบัญญัตินี้

แต่ปรากฎว่าใน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลับทำให้การอุทธรณ์ง่ายขึ้น คือยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เอาไว้ และที่สำคัญก็คือเมื่ออุทธรณ์ไปแล้ว การวินิจฉัยอุทธรณ์จะดำเนินการโดยองค์คณะใหม่ครับ ไม่ใช่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา พูดง่ายๆ ก็คือแพ้ 1 ครั้ง ก็ไปลุ้นครั้งที่ 2 เอาครับ คาดว่าถ้า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน คนกลุ่มแรกที่อาจจะได้ประโยชน์จากบทบัญญัติใหม่นี้ คือจำเลยในคดีจำนำข้าวครับ เพราะว่า รัฐธรรมนูญก็คงจะผ่าน ถ้าผ่านนั้นก็คือประชามติในเดือนสิงหาคม ถ้ามีคำถามพ่วงเกิดผ่านด้วย มีการปรับปรุงแก้ไข อย่างไรเสียก็ประกาศใช้ได้น่าจะตุลา – พฤศจิกา แต่คำตัดสินของคดีนี้ก็อาจจะออกมาหลังจากนั้นเพียงสักเดือน 2 เดือน ถ้าตัดสินว่าผิด ก็ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้เลยครับ นี่เป็นผลที่เกิดขึ้น เหมือนกับการไปยกเลิกกระบวนการถอดถอนก็ส่งผลให้จากเดิมนักการเมืองที่เคยถูกถอดถอนนี้ ถูกตัดสิทธิ์ห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเลิกข้อห้ามนั้นไปแล้วก็จะถูกตัดสิทธิ์เป็นระยะเวลาที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ก็น่าจะเป็นประมาณ 5 ปี

ผมจึงบอกว่า ผมสนับสนุนการปราบโกง แต่ผมว่าบทบัญญัติที่ผมยกตัวอย่างมาเฉพาะในส่วน 2 ข้อนี้ มันกำลังทำให้กระบวนการการปราบโกงอ่อนแอลง มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่มีการพูดกัน หรือมีความพยายามที่จะทำกันให้การปราบโกงนี้มันมีความเข้มข้นขึ้น

ฉะนั้นโจทย์ทั้ง 3 ข้อที่ผมใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณานี้มันจึงให้คำตอบว่า ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วผมขอย้ำนะครับ นี่คือเกณฑ์ที่ผมใช้ในการพิจารณา ไม่มีประเด็นใดเลยที่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องระบบการเลือกตั้ง เรื่องพรรคการเมือง เรื่องอะไรทั้งสิ้นครับ แต่ผมไม่รับเพราะผมเห็นว่าร่างนี้มันไม่ตอบโจทย์ประเทศ มันไม่สามารถเป็นกติกาถาวรที่เอื้อให้ประเทศไทย ก้าวพ้นจากสภาพปัญหาเดิมๆ ได้ นั่นคือเหตุผลที่ผมจึงไม่รับ

ก็เข้ามาสู่ประเด็นที่ 3 ว่าถ้าเกิดในวันที่ 7 สิงหาคม ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านเกิดอะไรขึ้น ตรงนี้อาจจะมีคนถามผมนะครับว่า ก่อนหน้านี้เป็นคนเรียกร้องว่า ขอความชัดเจนใช่มั้ยว่า ถ้ามันไม่ผ่าน ทาง คสช. จะทำอย่างไร แล้วก็ถ้าไม่ได้คำตอบ ผมมาตัดสินได้อย่างไรว่าจะรับ หรือไม่รับ ผมก็ต้องบอกว่าผมได้ใช้เวลา ยาวนานพอสมควรเรียกร้องเรื่องนี้มาโดยตลอดนะครับ แล้วก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจริงครับ เมื่อมาถึงวันนี้ การตัดสินใจของผมก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าผมต้องตัดสินใจจากสิ่งที่ผมเห็น คือตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และผมไม่อาจที่จะรับร่างฯ นี้ได้เพียงเพราะว่าผมกลัวว่าผมจะได้สิ่งที่แย่กว่า

ที่สำคัญก็คือว่าผมกลับมองว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ประเทศมีโอกาส ขอยืนยันเลยนะครับว่าการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของผมนี้ เมื่ออยู่บนเนื้อหาสาระ และที่ผมชักชวนให้ทุกคนพิจารณาจากเนื้อหาสาระนี้ การลงมติรับ หรือไม่รับ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่มาบอกว่า ชอบหรือไม่ชอบ เชียร์ หรือไม่เชียร์ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทางการเมือง และผมจะไม่ยอมให้ใครเอาเงื่อนไขว่าถ้ากรณีรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วจะมาสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง ตรงกันข้ามครับผมมองว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่จะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตามโรดแมพที่ได้กำหนดไว้ครับ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ใครที่กังวลว่า นอกจากจะเกิดความวุ่นวายแล้วจะมีปัญหาความยืดเยื้อว่าไม่รู้อนาคตประเทศไปในทางไหน – ไม่ครับ

ถึงไม่ผ่าน คสช. พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องรับผิดชอบปัญหาของบ้านเมือง และยังจะต้องเดินตามโรดแมพ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่ แต่มันเป็นโอกาส และกุญแจสำคัญที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์นั้น ให้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับนี้ให้กับประชาชน และสังคม โดยผมมั่นใจว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านอย่างไรเสีย พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องตระหนักว่าการไม่ผ่านนี้มันมีสาเหตุที่มาที่ไปอย่างไร แล้วท่านก็คงจะไม่เขียนคนเดียวหรอกครับ แต่ก็ต้องมาทบทวนจุดแข็ง จุดอ่อนของทุกร่างฯ ที่มันเคยมีมา แล้วก็ฟังเสียงของสังคม โดยไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนเป้าหมายของการจัดทำรัฐธรรมนูญนะครับ ที่จะมาปฏิรูป มาแก้ปัญหาการทุจริต หรือมาแก้ปัญหาความขัดแย้ง

แต่ผมเสนอว่า จุดเริ่มต้นของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย พล.อ.ประยุทธ์นี้ น่าจะเป็นฉบับปี 50 ครับ เพราะว่า 1. รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 50 เคยผ่านความเห็นชอบของประชาชนในการประชามติมาแล้ว และหลายท่านอาจจะจำได้นะครับ ในวันที่มีคนคิดจะมารื้อรัฐธรรมนูญปี 50 ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า ถ้าจะไปรื้อ โยนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทิ้ง ควรที่จะกลับไปถามประชาชนให้แน่ใจเสียก่อน เพราะผ่านความเห็นชอบของการประชามติมา

ประการที่ 2 ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ไม่ใช่ตัวปัญหาและเงื่อนไขที่ทำให้เกิดรัฐประหารนะครับ และผมยังจำได้ด้วยว่า ในบรรดาการรัฐประหารที่ผ่านมาผมเห็นคำสั่ง คสช. น่าจะเป็นฉบับที่ 5 ครับ ออกมา รัฐประหารแล้วนะครับ ยังไม่ยกเลิกรัฐธรรมนูญเลยครับ คือขอให้ยุติไว้ชั่วคราว แสดงให้เห็นว่า คสช. ในวันที่แก้ปัญหาประเทศ ก็ไม่ได้มองว่าปัญหาเกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ประการที่ 3 ผมคิดว่าบทบัญญัติเรื่องสิทธิ เสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนในรัฐธรรมนูญปี 50 นั้นชัดเจนที่สุด เราไม่ควรถอยหลังไปจากนั้นครับ และจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนจริงๆ แต่การนำ รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 มาเป็นหลักนั้น ผมคิดว่า ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ควรที่จะได้กำหนดเป้าหมายของการปรับปรุงให้ชัดไปเลยครับ เช่น ความเข้มข้นในมาตรการของการปราบปราบการทุจริต คอร์รัปชั่น ซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับ หรือประเด็นว่าจะมีอะไรที่มาช่วยลด หรือแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มันเคยเกิดขึ้นในอดีต รวมไปจนถึงเรื่องของการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ที่สำคัญก็คือว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน และพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำในการจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ท่านจะสามารถทำควบคู่ไปกับการดำเนินการปฏิรูปในเรื่องสำคัญๆ ให้มันเป็นรูปธรรมนี้ก่อนการเลือกตั้งได้ ไม่โยนเรื่องนี้ไปสู่การมีกฎหมายปฏิรูปคณะกรรมการปฏิรูปตรงนั้นตรงนี้ครับ

ผมจึงมองว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สังคมส่วนใหญ่ไม่ได้บอกว่าจะต้องการความวุ่นวายนะครับ แต่สังคมส่วนใหญ่บอกว่าเปิดโอกาสให้กับประเทศเถอะ ให้เราได้สิ่งที่ดีกว่าที่เห็นอยู่ในขณะนี้ แล้วมาช่วยกันตอบโจทย์ของประเทศ จะเป็นก้าวใหม่ของประเทศไทย และจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะทำให้หลุดพ้นจากสภาพปัญหาวังวนเดิมๆ ที่เราติดกับดัก ติดหล่มกันมากว่า 10 ปี
ประเด็นสุดท้ายนะครับ ผมทราบว่าหลายท่านสนใจการแถลงจุดยืนในวันนี้ มีคำถาม มีเรื่องประเด็นทางการเมืองเยอะแยะไปหมด แต่ผมอยากจะบอกว่าเช่นเดียวกับที่ผมพูดเมื่อสักครู่ว่า เรามีโอกาสสร้างก้าวใหม่ให้กับประเทศไทย ผมยืนยันว่าการกำหนดจุดยืนของผมในวันนี้ ก็ต้องการจะบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องการที่จะเริ่มต้นก้าวแรกที่เป็นก้าวใหม่ในการเมืองใหม่เหมือนกัน เราต้องพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ตามหลักการ อุดมการณ์ ประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ประเทศ เอาข้อเท็จจริง เอาเหตุผลมาพูดกัน ถ้าเรายังทำการเมืองโดยความคิดว่า ถ้าคนนี้เราชอบ พูดอย่างนี้ เราต้องตาม ถ้าคนนี้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเรา เราไม่ชอบพูดอย่างนี้ เราต้องทะเลาะ เราต้องคัดค้านกันตลอดเวลา การเมืองไทย สังคมไทยจะไม่มีวันหลุดพ้นจากวิกฤติที่ผ่านมาได้เลยครับ

จุดยืนที่ผมแถลงนี้ยืนยันว่าผ่านกระบวนการที่ผมพูดเมื่อสักครู่ คือเอาอุดมการณ์ หลักการ ข้อเท็จจริง เหตุผล ประโยชน์ส่วนร่วมมาว่ากัน ผมไม่ได้สนใจว่า คสช. นปช. ใครต่อใครจะพูดอะไรครับ ถ้าผมต้องไปไม่เห็นด้วยกับคนเพราะว่าผมเห็นว่าเขาเป็นคนใช้ไม่ได้ ขนาดนาฬิกาตายยังบอกเวลาถูกวันละ 2 ครั้งนะครับ เราจะเอาหลักเกณฑ์อย่างนั้นมากำหนดอนาคตประเทศไม่ได้ครับ เราต้องมาทำให้ก้าวแรกก้าวนี้ มันนำมาสู่กระบวนการการเมืองใหม่ ที่จะตอบโจทย์ของประเทศได้อย่างแท้จริง

ฉะนั้นผมจะทิ้งท้ายไว้เพียงว่า คนที่เป็นห่วงว่าพอผมแถลงจุดยืนอย่างนี้มันเป็นเรื่องของการไปสมคบ รวมหัวของนักการเมือง พรรคการเมือง - ไม่ใช่ครับ แล้วอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมใช้นั้นชัดเจนครับ นอกจากจะเน้นเรื่องของหลักกฎหมาย เหตุผล ในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่สนับสนุนระบบและวิถีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็คือเราจะดำเนินการทางการเมืองโดยวิถีอันบริสุทธิ์ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตต่อประชาชนครับ ผม และพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีวันไปสมคบกับคนที่โกงชาติ ทั้งที่เคยโกงชาติ และคิดที่จะโกงชาติต่อไปในอนาคตโดยเด็ดขาด

ผมจะขออนุญาตว่าวันนี้ยังไม่ตอบคำถามสื่อมวลชน เพราะผมไม่ต้องการตอบคำถามทางการเมือง แต่ผมไม่ได้หนีไปไหนครับ ผมต้องการให้ท่านไปพิจารณาสาระทั้งหมดที่ผมได้พูดในวันนี้ และพร้อมที่จะตอบคำถามต่อไปในอนาคตเพราะว่าสาระที่ผมพูดทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าคือหัวใจว่า เราจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้หรือเปล่า ผมเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างเสมอครับ ถ้าใครเห็นว่าสิ่งที่ผมพูดในวันนี้มันไม่ถูกไม่ต้อง เพราะว่าเหตุผลที่ผมให้มันไม่ใช่ ข้อเท็จจริงที่ผมมาอ้างมันไม่ใช่ ผมเคารพความคิดเห็นนั้น แล้วก็ยินดีและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนกันเสมอ แต่วันนี้อย่าเอาเนื้อหาสาระที่ผมพูดนี้ดึงผมไปสู่ประเด็นว่าผมขัดแย้งกับใครมั้ย ผมสมคบกับใครมั้ย ผมไม่ขัดแย้ง และไม่สมคบกับใคร ผมแถลงจุดยืนในวันนี้บนพื้นฐานของความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจของผมว่าจุดยืนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการนำพาบ้านเมืองไปในอนาคต ผมขอขอบคุณสื่อมวลชนอีกครั้งนึงครับ แล้วก็หวังว่าจะได้รับการพิจารณาจุดยืนนี้จากพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอบคุณครับ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง