การแย่งชิงวัยสดใส ในพื้นที่เปราะบางที่ชายแดนใต้ “ไอดอล-กีฬา” คือความหวังของคนรุ่นใหม่

ภูมิภาค
28 ก.ค. 59
07:05
708
Logo Thai PBS
การแย่งชิงวัยสดใส ในพื้นที่เปราะบางที่ชายแดนใต้ “ไอดอล-กีฬา” คือความหวังของคนรุ่นใหม่
ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ปรากฎเด่นชัดมาตั้งแต่ปี 2547 ล่วงมาจนถึงปัจจุบันก็ยาวนานถึง 12 ปี การต่อสู้มาอย่างยาวนานของกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่ไม่สำเร็จ ปัจจุบันปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการต่อสู้ในระยะยาว

จากเดิมที่เน้นการฝึกกองกำลังอาร์เคเค จากกลุ่มคนที่ไม่มีอาชีพ ติดยาเสพติด มีคดีความติดตัว มามุ่งที่จะสร้างแนวร่วมรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เฉลียวฉลาด จึงพุ่งเป้าไปที่ “เด็กและเยาวชน” ปลูกฝังความแตกแยกผ่านเรื่องเล่า

จากข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า การสร้างแนวร่วมก่อความไม่สงบจนถึงขั้นพัฒนาไปเป็นกองกำลังอาร์เคเค เริ่มตั้งแต่เด็กเล็กราว 3-5 ขวบ ไปจนถึงอายุ 12 ปี จะใช้การเล่านิทานให้เกิดความรู้สึกแตกแยกกับเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ข้องแวะกับรัฐไทย ไม่ข้องแวะกับศาสนาอื่น เพื่อให้เกิดความแปลกแยกระหว่างคนต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ ขั้นนี้เน้นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้เป็นพวกเขาพวกเราเป็นหลัก ยังไม่ปลูกฝังอุดมการณ์เชิงลึก

“มีการปลูกฝังให้เด็กรู้สึกแปลกแยก แตกต่าง บอกว่าพูดไทยแล้วลิ้นจะแข็งอ่านอัลกุรอ่านไม่ได้ อย่าไปคบคนกินหมู เลี้ยงหมา ซึ่งเด็กไม่รู้ เด็กยังไม่เข้าใจถึงการแบ่งแยกดินแดน หรือสอนให้เด็กทำพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม แต่เด็กก็ทำตาม เพราะเชื่อว่าทำแล้วได้บุญ แต่ไม่มีแนวคิดในเรื่องอื่นๆ” แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงระบุ

ข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงระบุว่า ฝ่ายขบวนการจะมีบุคคลที่เรียกว่า “เปอร์กาเดซ” ทำหน้าที่เป็นแมวมองตามประกบเยาวชนอายุ 13-15 ปีเป็นรายบุคคล จะหาช่องทางเข้าถึงตัวเด็กเพื่อเล่าเรื่องต่างๆ ที่เน้นเชื้อชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ เช่น เล่าเรื่องการเข้ายึดครองรัฐปัตตานี การเกณฑ์คนปัตตานีไปเป็นแรงงาน เล่าเรื่องการทรมานต่างๆ ไปจนถึงกรณีในปัจจุบันที่ใกล้ตัวเยาวชน เช่น เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะและเหตุการณ์ตากใบ

เมื่อเด็กคล้อยตาม เปอร์กาเดซจะชี้นำให้เห็นว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ฮาดุรอัลบี” คือ พื้นที่ที่ห้ามผู้นับถือศาสนาอิสลามปฏิบัติศาสนกิจ ห้ามเผยแพร่ หรือถูกกระทำทารุณกรรม พูดง่ายๆ ก็คือ ชี้นำให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามถูกเบียดเบียน (ซึ่งจนถึงขณะนี้ในบรรดาผู้นำศาสนาก็ยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ฮาดุรอัลบี”) และต้องต่อสู้เพื่อให้ได้พื้นที่ของอิสลามคืนมา โดยการชักชวนให้เยาวชนทำ “ญิฮัด” (สงครามศาสนา) เพราะเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิม และเมื่อเยาวชนเห็นด้วยกับแนวทางการทำสงครามศาสนาดังกล่าว ก็จะทำพิธีซุมเปาะฮ์ (สาบานตน) เพื่อเข้าสู่การฝึกของขบวนการ

แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงระบุด้วยว่า แท้ที่จริงแล้วแกนนำระดับสูงต้องการผลประโยชน์บางอย่าง โดยนำศาสนามาอ้างเพื่อสร้างแนวร่วมได้ง่ายมากขึ้น

แมวมอง เลือกเด็กฉลาด

เด็กเรียนเก่ง เฉลียวฉลาด มีความเป็นผู้นำ เคร่งศาสนา ร่างกายแข็งแรง จะเป็นเป้าหมาย เพราะชุดปฏิบัติการอาร์เคเคเป็นชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก 6 คน จึงต้องการผู้ที่มีไหวพริบ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ส่วนเด็กที่ติดยาเสพติด เกเร ความประพฤติไม่ดี จะไม่ถูกชวนเข้าร่วมขบวนการ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติการไม่สำเร็จและเปิดเผยความลับ

ฝึกเด็ก 2 ปี พร้อมก่อเหตุ

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงอธิบายว่า หลังจากได้เด็กมาอยู่ในแนวร่วมและสาบานตนแล้ว ฝ่ายขบวนการจะเริ่มฝึกตามขั้นตอนโดยใช้เวลาตั้งแต่ 3 เดือน จนถึง 2 ปี ถ้าสามารถออกปฏิบัติการได้ 1 ครั้งก็ถือว่าฝึกสำเร็จและเป็นอาร์เคเค ซึ่งจะถูกส่งเข้าไปประจำในหมู่บ้าน แต่เด็กบางคนยังห่วงการเรียนหรือห่วงครอบครัว หรือร่างกายไม่แข็งแรงพอก็จะได้รับมอบหมายให้เป็นฝ่ายสนับสนุน

คนที่เก่งและแข็งแรงจะเป็นหน่วยปฏิบัติการเล็กอาร์เคเคหรือ "สายทหาร" ทำหน้าที่ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น ลอบยิง วางระเบิด และความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

"สายมวลชน" เป็นเยาวชนที่มีสติปัญญาไหวพริบดี ทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อ ขยายฐานมวลชนในหมู่บ้าน ส่วน "สายสนับสนุน" จะทำหน้าที่ตัดต้นไม้ โรยตะปูเรือใบ และเปิดทางในสมาชิกอาร์เคเคหลบหนีหลังจากปฏิบัติการเสร็จสิ้น

แต่บางส่วนยังไม่ผ่านการฝึกถึงขั้นเป็นอาร์เคเคคือยังไม่สามารถออกปฏิบัติการได้ เช่น ความสามารถยังไม่เพียงพอ ยังอ่อนในเรื่องอุดมการณ์ หรือไม่มีตำแหน่งว่างพอให้ขยับขึ้นไปก็จะถูกนำไปฝึกชุดเล็กซ้ำอีก โดยมีจุดประสงค์เพื่อรื้อฟื้นผู้ที่เริ่มอ่อนด้านอุดมการณ์ และฝึกความสามารถเพื่อเป็นแถวสองหรือตัวสำรองต่อไป ซึ่งแหล่งข่าวสายความมั่นคงระบุว่า กลุ่มนี้ยังมีสมาชิกเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง

“เชื่อว่ายังมีการฝึกเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เราพยายามทำให้เยาวชนเข้าร่วมน้อยลง เพราะอาร์เคเคบางส่วนที่เมื่ออายุมากหรือมีครอบครัว ก็จะปฏิบัติการได้น้อยลงหรือลดบทบาทลงมา หากเยาวชนไปเข้าร่วมขบวนการน้อยลง ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาในพื้นที่ได้” แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุ

สร้าง “ไอดอล” ใหม่ให้เด็กและเยาวชน

น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ องค์กรช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทำข้อมูลวิจัยพบว่า เหตุผลหลักที่เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ถูกชักชวนเข้าร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบได้ง่ายก็คือ การเห็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่และรับรู้ความไม่ยุติธรรมตั้งแต่เด็ก

แม้ว่าทางฝ่ายความมั่นคงจะให้ความรู้หรืออบรมเจ้าหน้าที่ก่อนลงพื้นที่ แต่ปัญหาก็คือเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมได้ก็จะมีสับเปลี่ยนโยกย้ายกำลังพลตามวาระ ทำให้ความเข้าใจสถานการณ์และวัฒนธรรมในพื้นที่ขาดช่วง และด้วยสถานการณ์ความรุนแรง บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เยาวชนในพื้นที่ต้องพบเจอก็คือ ภาพของความรุนแรง การใช้อาวุธ หรือแม้แต่บริเวณโรงเรียน ก็มีเจ้าหน้าที่ถือปืนซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ทำให้เยาวชนอยู่ภายในใต้บรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้หรือคิดนอกกรอบเดิมได้อิสระเท่ากับเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ

“กรณีตากใบแม้ว่าเวลาจะผ่านมานาน แต่ยังมีภาพ มีความทรงจำที่สร้างผลกระทบให้คนใน จ.นราธิวาส จนทำให้เกิดกองกำลังอย่างเข้มแข็งและส่งผลให้เด็กเลือกข้าง” น.ส.อัญชนา กล่าว

สิ่งแวดล้อมและบริบทางสังคมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนญาติพี่น้องประกอบอาชีพเชิงเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ปลูกยางพารา เป็นตัวอย่างหรือไอดอลไม่กี่ประเภทที่เยาวชนเหล่านี้จะดำเนินรอยตาม

 

ขณะที่เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่ยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่เกิดขึ้น และมีผู้ลุกขึ้นต่อสู้ เด็กก็จะมองเห็นว่าคนนั้นเป็นไอดอล ซึ่งเป็นปัจจัยที่ง่ายต่อการชักจูงเข้าขบวนการ

“เด็กคนหนึ่ง มีพี่ชายเป็นไอดอลของเขา เพราะจบการศึกษาระดับปริญญา แต่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับเหตุระเบิด และถูกจำคุก เมื่อเขาพบเห็นเหตุการณ์เหล่านี้จึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และเริ่มคิดว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร สุดท้ายจึงเลือกที่จะไม่เรียน” น.ส.อัญชนาถ่ายทอดเรื่องราวที่พบจากการทำงานกับเยาวชนในพื้นที่

ข้อเสนอของประธานกลุ่มด้วยใจ ก็คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมการสร้างพื้นที่ปลอดภัย บรรยากาศแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และใช้ชีวิตที่นอกเหนือจากการใช้อาวุธหรือความรุนแรง และต้องร่วมกันสร้างตัวอย่างในสาขาอาชีพรูปแบบอื่นให้เขามองเห็นว่ามีทางเลือกอื่นๆ ที่หลากหลายให้ดำเนินรอยตามได้

เปิดโลกทัศน์เรียนรู้พหุวัฒนธรรม-สานฝันกีฬา

การสร้างแบบอย่างหรือเปิดมุมมองของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีความพยายามจากหลายวิธีการ โดยกระทรวงศึกษาธิการ และฝ่ายความมั่นคงได้นำเยาวชนเดินทางไปเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่อื่นๆ เช่น ชุมชนวัดต้นสน เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร หรือชุมชนชาวมุสลิมใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ชาวมุสลิมและคนนับถือศาสนาอื่นๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข เป็นต้น

นายนพพร มากคงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การนำนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาทัศนศึกษาในโครงการเปิดโลกทัศน์ศึกษาพหุวัฒนธรรม เป็นการช่วยให้ได้เรียนรู้ความต่างทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชุมชนชาวมุสลิมในพื้นที่อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกับชาวไทยพุทธได้เป็นอย่างดี โดยมีนักเรียนจากหลายโรงเรียนเข้าร่วม

 

นอกจากนี้ ยังมีการใช้กีฬามาเป็นทางเลือกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในการประกอบอาชีพได้ เช่น ฟุตบอล ตะกร้อ วอลเลย์บอล และฮอกกี้ โดยมีโครงการสานฝันกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้

“มีการจัดตั้งโรงเรียนและปรับหลักสูตรสายวิทย์-กีฬา และคัดเลือกเยาวชนที่ต้องการเอาดีด้านกีฬาต่างๆ มาอยู่ในโรงเรียน มีทุนการศึกษาให้ มีครู โค้ช นักกายภาพ นักโภชนาการ ซึ่งสามารถศึกษาต่อในระดับอุมดศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ การกีฬาไปจนถึงการประกอบอาชีพเป็นนักกีฬาต่อไป ซึ่งได้รับการตอบรับจากเยาวชนในพื้นที่อย่างมาก” นายนพพร กล่าว

 

ขณะที่ นายอนิรุธ เมาและ ครูโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ จ.นราธิวาส และนักฝึกสอนกีฬาฟุตซอล อธิบายว่า โครงการสานฝันกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ปรับโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนที่เน้นด้านกีฬา เด็กเรียนสายกีฬาเป็นเด็กประจำได้รับทุนการศึกษาคนละ 40,000 บาทต่อปี โดยครูจะดูแลตั้งแต่เช้า นำประกอบศาสนกิจและเรียนหนังสือจนถึงเวลา 14.00 น. จากนั้นเวลา 15.00 - 16.00 น.จะเป็นการซ้อมกีฬา ซึ่งโรงเรียนลักษณะนี้มีใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อามิน บางเยง นักเรียนชั้น ม.4 นักกีฬาฟุตบอล กล่าวว่าเขามาร่วมโครงการสานฝันกีฬาเพราะชอบกีฬา

"อนาคตอยากติดทีมชาติ อยากเป็นเหมือนธีราทร บุญมาทัน แต่ก็ต้องเพิ่มทักษะ และฝึกซ้อมให้ดีขึ้น ผมตื่นเต้นและสนุกมากที่ได้ดูฟุตบอลไทยลีกที่สนามจริง"

ธีรวุฒิ เตะเหลม นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

ธีรวุฒิ เตะเหลม นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

ธีรวุฒิ เตะเหลม นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

 

ขณะที่ ธีรวุฒิ เตะเหลม นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี บอกว่า เมื่อทราบข่าวมีการเปิดโครงการสานฝันกีฬาก็ไปสมัครเพราะชอบเตะฟุตบอลมาก ธีรวุฒิบอกว่าเขาเตะฟุตบอลมาตั้งแต่ 7 ขวบ จึงมาสมัครโครงการสานฝันฯ ส่วนตัวก็อยากติดทีมชาติสักครั้งในชีวิต อยากให้รู้ว่าเด็กภาคใต้ก็มีดีและในอนาคตอยากเล่นฟุตบอลในกรุงเทพฯ และอยากหารายได้เลี้ยงดูพ่อแม่ด้วย

การศึกษาจึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีทางเลือกในการกำหนดอนาคตของตัวเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เด็กและเยาวชนห่างไกลออกจากการชักชวนเข้าสู่ขบวนการของฝ่ายก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เฉลิมพล แป้นจันทร์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง