“ยุทธศาสตร์ชาติ” อนาคตประเทศไทย ในร่างรัฐธรรมนูญ

การเมือง
30 ก.ค. 59
15:13
752
Logo Thai PBS
 “ยุทธศาสตร์ชาติ” อนาคตประเทศไทย ในร่างรัฐธรรมนูญ
‘สุดารัตน์’ ชี้เขียนยุทธศาสตร์ชาติในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ปัญหาแบบวัวพันหลัก รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่มีอิสระบริหารประเทศ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนยืนยันยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงเป้าหมายกว้างๆ ที่จะพาประเทศไปถึงเส้นชัยในอีก 20 ปีข้างหน้า

วานนี้ (29 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ในการบันทึกเทป ‘รายการสาระประชามติ’ จัดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อเปิดพื้นที่ถกแถลงประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่าง

สำหรับตอน ‘รับ-ไม่รับ ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์รัฐธรรมนูญ’ มีผู้ร่วมรายการคือ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายบัญฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนร่วมเสวนาในฝ่ายเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติ ในร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ เป็นตัวแทนถกแถลงฝ่ายไม่เห็นด้วย

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กล่าวในรายการว่า แนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ต่อเนื่องมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติจะคล้ายภาพใหญ่ ที่ครอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่มองในหลายมิติที่กว้างขึ้น เช่น ด้านความมั่นคง วิทยาศาสตร์สาธารณสุข ทุกด้านที่เป็นพลังอำนาจแห่งชาติ แต่เป็นการมองที่มองไปไกลถึง 20 ปี โดยมีการกำหนดการเดินตามแผนไว้ทุกๆ 5 ปี

“ยุทธศาสตร์ชาติก็เหมือนอุโมงค์ใหญ่ นโยบายรัฐบาลกับการจัดสรรงบประมาณคือ งู ที่สามารถเดินไปทางไหนก็ได้ที่เป็นช่องว่างภายใต้อุโมงค์ใหญ่ ดังนั้นถ้าไม่ออกนอกกรอบ 20 ปีที่วางไว้ตามยุทธศาสตร์ชาติ ก็สามารถทำได้ทุกนโยบายเพื่อให้เดินไปถึงเป้าหมาย ซึ่งไม่ได้มีการลงรายละเอียดไว้ รัฐบาลที่เข้ามาจะเป็นคนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ระบุว่า เห็นด้วยว่า ประเทศต้องมียุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะต้องเขียนไว้ เพื่อจำกัดกรอบการทำงานของรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต เนื่องจากเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาแบบวัวพันหลัก และจะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น

“ถ้าพูดแบบโลกสวย ก็อาจจะบอกได้ว่าก็ดีที่มียุทธศาสตร์บังคับให้นักการเมือง ให้รัฐบาลต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ถ้าดูรายละเอียด มันไม่ใช่แค่กรอบ แต่คือการบังคับว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำตาม เช่น มาตรา 269 ส.ว.มีหน้าที่ในการกำกับ ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัด ในการทำให้เกิดการปฏิรูป และการทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ทำถือว่ามีความผิด” คุณหญิงสุดารัตน์

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวด้วยว่า การใช้รัฐธรรมนูญเขียนกำกับในรายละเอียด ยังจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศอย่างมีเสถียรภาพได้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน รายการ สาระประชามติ ตอน‘รับ-ไม่รับ ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์รัฐธรรมนูญ’ ออกอากาศซ้ำในวันที่ 1 ส.ค.2559 เวลา 13.00 น.

หรือชมย้อนหลัง ตอน "รับ /ไม่รับ ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์รัฐธรรมนูญ"

ที่นี่ https://youtu.be/uUo7EyjG72A

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง