พลิกชีวิตเด็กนอกระบบชายแดนใต้ ซ่อมจยย.-ช่างไฟ-ก่อสร้าง อาชีพยอดฮิต

ภูมิภาค
31 ก.ค. 59
17:15
1,344
Logo Thai PBS
พลิกชีวิตเด็กนอกระบบชายแดนใต้ ซ่อมจยย.-ช่างไฟ-ก่อสร้าง อาชีพยอดฮิต
แม้ว่าการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีการเรียนการสอน ทั้งการเรียนสายสามัญและสายศาสนา แต่ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทำให้เด็กบางส่วนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา หรือไม่สามารถศึกษาจนจบไปประกอบอาชีพได้

สภาพสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้เด็กและเยาวชนมองเห็นทางเลือกในการประกอบอาชีพได้ไม่ชัดเจนนัก จึงได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน" ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นได้เพิ่มพูนทักษะความรู้และนำไปประกอบอาชีพได้

ซ่อมมอเตอร์ไซค์ ช่างไฟ ก่อสร้าง สาขายอดฮิต

นายมะยูซัน กาเซ็ง อายุ 17 ปี เป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะไม่ค่อยดีนัก มิหนำซ้ำพี่ชายของเขายังถูกผู้ก่อความไม่สงบทำร้ายเสียชีวิต หลังจบการศึกษาชั้น ม.3 เขาต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานรับจ้างรายวัน ก่อนจะมาสมัครเข้ารับการฝึกอาชีพช่างไฟฟ้าที่ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน จ.นราธิวาส เพราะที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนกิน-นอน ไม่มีค่าใช้จ่าย เขาใช้เวลาอยู่ที่ศูนย์ฝึกอาชีพแห่งนี้ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ โดยเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นมาเป็นเวลาเกือบ 4 เดือนแล้ว เขาบอกว่าเมื่ออบรมจบแล้ว จะต้องฝึกงานอีก 2 เดือน มะยูซันหวังว่าความรู้ที่เขาได้ จะทำให้เขาออกไปประกอบอาชีพเป็นช่างไฟฟ้าได้

นายสิทธิพล ดือราแม เป็นนักเรียนอีกคนหนึ่งของศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน ก่อนหน้านี้เขาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและรับซ่อมมอเตอร์ไซค์อยู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แต่ระยะหลังมีงานเข้ามาน้อยลง พี่ชายเขาจึงแนะนำให้มาฝึกอาชีพที่นี่ในสาขาวิชาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ เพราะเป็นการฝึกระยะสั้นและสามารถนำไปประกอบอาชีพได้

“เรียนไม่ยาก ไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษา เมื่อจบการอบรมครั้งนี้ จะกลับไปเปิดอู่ซ่อมรถจักรยานยนต์กับพี่สาว อย่างน้อยก็ทำให้เรามีอาชีพ” นายสิทธิพลกล่าว

นายสายฟุดีน เจะลง จาก อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส มีความฝันว่าอยากจะเปิดร้านรับจ้างเดินสายไฟและซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะงานลูกมือช่างวางระบบ 3G ที่เขาทำอยู่เริ่มมีงานน้อยลง ในขณะที่เขาถนัดเป็นช่างไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงมาสมัครเรียนสาขาวิชาช่างไฟฟ้า

“จาก อ.สุไหงปาดี มีผมมาคนเดียว ปกติคนในพื้นที่ก็ไม่ค่อยมีงานทำ อยู่บ้านช่วยกรีดยาง เมื่อยางราคาไม่ดีก็ออกมารับจ้าง ผมมาเรียนที่นี่เพราะอยากมีวิชาชีพติดตัว ในการเรียนอาจารย์จะสอนย้ำแล้วย้ำอีกจนกว่าจะทำได้ ถ้าทำไม่ได้อาจารย์ก็จะมาสอนเสริมให้จนทำได้” นายสายฟุดีน กล่าว

จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานพบว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิชาช่างไฟฟ้า วิชาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ และวิชาช่างก่อสร้าง เป็นสาขาวิชาสอดคล้องกับวิถีชีวิต และเป็นที่ต้องการของคนในพื้นที่

ผู้ที่จบหลักสูตรการอบรมสาขาวิชาช่างไฟฟ้าจะสามารถซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าติดตั้งเครื่องปรับอากาศและจานดาวเทียมได้ ส่วนสาขาวิชาช่างก่อสร้างจะเน้นพื้นฐานการก่อสร้าง เช่น การปูกระเบื้อง ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพรับจ้างหรือเป็นผู้รับเหมาได้ วิชาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์และรถจักรยานเป็นที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากในพื้นที่ประชาชนนิยมใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะหลัก จึงง่ายต่อการนำไปประกอบอาชีพ

 

ฝึกจนทำเป็น เพื่อเด็ก 3 จังหวัดภาคใต้มีอาชีพ

นายสุนทร หมัดแล้ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนราธิวาส ระบุว่า จุดเด่นของการสอนที่ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน คือ เน้นการลงมือปฏิบัติจริง ผู้เข้ารับการอบรมต้องทำได้จริง ครูจะสอนซ้ำ สอนย้ำจนสามารถทำได้ เช่น คนที่จบช่างไฟฟ้าไปจะต้องซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าได้หรือต้องเดินสายไฟได้ เป็นต้น

ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน รองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ที่มีปัญหาด้านยาเสพติด หรือไม่ได้รับการศึกษาทั้งในสายสามัญ สายอาชีพ ตลอดจนโรงเรียนเอกชนสอนศานา โดยไม่จำกัดอายุ และวุฒิการศึกษา โดยเน้นการฝึกอาชีพเพื่อนำไปประกอบอาชีพส่วนตัว ทางศูนย์ฝึกอาชีพจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดการศึกษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยศึกษาด้านทฤษฎี 4 เดือนและฝึกงาน 2 เดือน รวมทั้งสิ้น 6 เดือน ผู้ที่อบรมจนครบหลักสูตรจะได้รับเกียรติบัตรจากศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหหวัดชายแดนใต้ และเกียรติบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปสมัครงานได้

ศูนย์นี้จะคล้ายกับโรงเรียนพระดาบสที่เน้นการสอนเพื่อไปประกอบอาชีพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีนิคมอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิต การมีอาชีพส่วนตัวจึงค่อนข้างจำเป็น ขณะนี้เปิดอบรมมาแล้ว 2 รุ่นๆ ละ 75 คน

โอกาสใหม่จากการฝึกงานนอกพื้นที่

โอกาสหนึ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมที่ศูนย์ฝึกอาชีพฯ ได้รับคือการไปฝึกงานนอกสถานที่ อย่างเช่น นายรุสลีซึ่งเข้ารับการอบรมสาขาวิชาช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ถูกส่งไปฝึกงานที่นิคมอุตสาหกรรมวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งนอกจากจะได้ประสบการณ์แล้วยังทำให้เขามีรายได้ที่แน่นอนมากขึ้นอีกด้วย

เขายอมรับว่าช่วงแรกที่มาทำงานที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้นับว่าลำบาก เพราะทักษะที่ได้อบรมมาเป็นทักษะพื้นฐาน แต่ที่โรงงานแห่งนี้ใช้เครื่องมือทันสมัย แต่ดีตรงที่มีการสอนงานซึ่งเมื่อทำได้เก่งขึ้นก็ได้ทำงานล่วงเวลา รายได้ก็ดีขึ้นกว่าเมื่อมาช่วงแรกพอสมควร จากเดือนละประมาณ 5,000 -6,000 ก็อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท

รุสลีบอกว่าเมื่อเขาทำงานเก็บเงินได้สักก้อนหนึ่งแล้วก็อาจจะกลับไปเปิดกิจการส่วนตัว รับเชื่อมประตูหรือทำรถพ่วงข้าง ซึ่งถือว่าทำให้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม

“ตอนมาครั้งแรกเราก็ท้อ และเหนื่อยอยู่เหมือนกัน แต่มีรุ่นน้องอีก 2 คน ที่มาทำงานในโรงงานเดียวกัน ก็อดทนไปด้วยกัน เป็นกำลังใจให้กัน ให้น้องเค้าอยู่ได้ ได้ทำงานและมีเงินเพื่ออนาคตของพวกเขาด้วย และตอนนี้ทุกคนก็ปรับตัวได้ดีขึ้น ซึ่งทุกอย่างอาจจะไม่สบายเหมือนที่บ้าน แต่ก็ต้องอดทนและเรียนรู้” นายรุสลี กล่าว

 

นายรุสลีกล่าวว่า การใช้ชีวิตในโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัวพอสมควร เนื่องจากอาหารการกิน ชีวิต ความเป็นอยู่และต้องอยู่ร่วมกับผู้คนที่มาจากหลายจังหวัด เรื่องภาษาก็มีปัญหาเช่นกัน แต่ที่โรงงานเข้าใจในเรื่องการประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม แต่การปรับตัวก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับเขาที่เคยมาเรียนในกรุงเทพฯ แล้ว แต่คนที่ไม่เคยมากรุงเทพฯ หรืออยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เลยก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัว

“หลายคนเพิ่งเคยมาอยู่ต่างถิ่นเป็นครั้งแรกก็คิดถึงบ้าน บางคนมีครอบครัว ประกอบการที่ต้องใช้ความพยายามในการปรับตัวอย่างมาก หลายคนจึงกลับบ้าน แต่หลายคนก็พยายามปรับตัว ซึ่งตอนนี้ก็ดีขึ้นทั้งรายได้และความเป็นอยู่” นายรุสลี กล่าว

ต้องปรับตัวทั้งทำงานและการใช้ชีวิต

นายซุลกิฟลี ผู้เข้าอบรมจากศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน สาขาวิชาช่างไฟฟ้า เล่าประสบการณ์การฝึกงานและทำงานที่แผนกช่าง โรงพยาบาลสุขุมวิท ในกรุงเทพฯ เขาบอกว่าตอนแรกก็มีความลำบากในการปรับตัวเพราะการใช้ชีวิตแตกต่างจากที่บ้านใน จ.ปัตตานี มาก แต่ก็ค่อยๆ ปรับตัว และหาชุมชนชาวมุสลิมในการประกอบศาสนกิจได้ รวมถึงทางโรงพยาบาลและเพื่อนร่วมงานก็เข้าใจในวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้ตามปกติ

“วิชาช่างไฟฟ้าที่ได้อบรมมาก็พอใช้เป็นพื้นฐานในการทำงานได้ แต่การทำงานจริงมีงานที่ต้องทำหลากหลายกว่ามาก ตั้งแต่ช่างไฟฟ้าไปจนถึงการซ่อมประตู แต่ก็ค่อยๆ ทำและเรียนรู้ไป ก็ทำได้” ซุลกิฟลี กล่าว

นายอัลดุลวาฮับ พนักงานประจำ สำนักนโยบายและแผน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจากทั้ง 3 แห่งใน จ.นราธิวาส ปัตตานี และนราธิวาส รุ่นแรก จำนวน 27 คน ที่ถูกส่งไปฝึกงานที่ บริษัท ซีเท็กซ์ ออโต้ พาร์ท จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา ในช่วงแรกจะมีการอบรมเพิ่มเติมให้กับผู้เข้าอบรมกลุ่มนี้

หลังจากนั้นก็ได้รับการบรรจุเข้าทำงานเป็นจำนวน 10 กว่าคน ในขณะนี้เหลืออยู่ 4 คนที่ยังทำงานอยู่ในโรงงานดังกล่าว ส่วนใหญ่ขอกลับบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากติดขัดในการปรับตัวทั้งอาหารการกิน วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และการประกอบศาสนกิจ เนื่องจากในพื้นที่ภาคกลางมีความแตกต่างจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ค่อนข้างมาก

“ส่วนใหญ่ขอกลับบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะคิดถึงบ้านและการปรับตัวที่ค่อนข้างลำบาก ส่วนของทักษะฝีมือนั้นพัฒนาได้ แต่เหตุผลหลักที่ขอกลับบ้านเป็นเพราะวัฒนธรรมที่แตกต่าง”

 

ขณะที่ ในโรงพยาบาลสุขุมวิทยังมีผู้ฝึกอบรมในโครงการทำงานอยู่ 2 คน ในแผนกช่างของโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตจะต้องพิจารณาหาที่ฝึกงานและสถานประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากจะมีความสะดวกและมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับผู้ฝึกอบรมที่มาจากจังหวัดชายแดนใต้มากกว่าในภาคกลาง

ปัจจุบันนี้ โครงการฝึกอาชีพยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างอาชีพให้กับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แม้ว่าจะมีอุปสรรคอยู่บ้างแต่เป้าหมายคือการฝีกฝนอาชีพให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เฉลิมพล แป้นจันทร์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง