ศาลฎีกายกฟ้อง “เบตเตอร์เวิลด์กรีน” เรียก 395 ล้าน เหตุปิดถนนสระบุรีขวางรถขยะ

สิ่งแวดล้อม
1 ส.ค. 59
17:30
2,777
Logo Thai PBS
ศาลฎีกายกฟ้อง “เบตเตอร์เวิลด์กรีน” เรียก 395 ล้าน เหตุปิดถนนสระบุรีขวางรถขยะ
หลังสู้คดีกว่า 12 ปี - ล่าสุด ศาลฎีกาพิพากษา ยกฟ้อง ปิดฉากคดีแพ่ง กรณี บริษัท เบ็ตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด ฟ้องผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านรวม 3 คน เหตุร่วมกันปิดถนนขัดขวางรถบรรทุกขยะกว่า 5 เดือน ทำให้สูญเสียประโยชน์ชื่อเสียง เรียกค่าเสียหาย 395 ล้านบาท

วันนี้ (1 ส.ค.) มูลนิธิบูรณะนิเวศรายงานว่า แหล่งข่าวใน จ.สระบุรีเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสระบุรีได้แถลงคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีที่บริษัท เบ็ตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย 3 คนได้แก่ น.ส.ประวิทย์ บุญทัพ นายสายรุ้ง วันดาคุณ นายธนพล บัวดี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 โดยคำฟ้องว่า จำเลยทั้ง 3 กับพวก ร่วมกันปิดถนนขัดขวางรถบรรทุกขยะของทางบริษัท เป็นเวลากว่า 5 เดือน เป็นเหตุให้บริษัทสูญเสียประโยชน์ ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น 395 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยศาลฎีกาได้พิพากษาให้ ยกฟ้อง จำเลยทั้ง 3 คน

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาดังกล่าว ได้ระบุว่า

“...โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า ปรับสภาพของเสียทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ตั้งโรงงานเพื่อบำบัดและฝังกลบกากอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 15/1 หมู่ 8 ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.หนองปลาไหล วันที่ 30 กันยายน 2546 เวลากลางวันและกลางคืน ต่อเนื่องถึงวันฟ้องคดี จำเลยทั้งสามกับพวกจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน ร่วมกันจ้าง วาน ใช้ หรือตามคำสั่ง ประชาชนหมู่8 ต.หนองปลาไหล และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงให้รวมตัวกันที่ถนนสายพระพุทธฉาย-บ้านเขาจำปา... โดยจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันปิดถนนและขัดขวางเป็นเหตุให้รถขนส่งสินค้าของโจทก์ไม่สามารถแล่นผ่าน... เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องสูญเสียผลประโยชน...เป็นเงินไม่น้อยกว่า 100,000,000 บาท...เสียต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของโจทก์...รวมค่าเสียหายหายเป็นเงิน 395,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน...พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี...

...จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า การประกอบกิจการของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากสถานที่ประกอบกิจการของโจทก์เป็นคนละแห่งกับที่แจ้งและได้รับอนุญาต... การประกอบกิจการของโจทก์ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และเป็นเหตุให้ประชาชนเจ็บป่วย... ต่อมาโจทก์ จำเลยทั้งสาม ประชาชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องประชุมและมีข้อตกลงร่วมกันให้โจทก์ชะลอการนำกากขยะไปฝังกลบ จนกว่าจะมีการตรวจสอบว่า กิจการของโจทก์ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่จากการตรวจสอบพื้นที่โดยรอบสถานประกอบกิจการของโจทก์ กลับพบสารพิษ เช่น สารแคดเมียม สารนิกเกิล และสารตะกั่ว ปนเปื้อนอยู่ในน้ำที่ประชาชนใช้อุปโภคบริโภคสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด หน่วยงานราชการมีคำสั่งให้โจทก์ขุดบ่อกลบขยะเพื่อตรวจสอบ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ประชาชนจึงรวมตัวกันตรวจสอบขยะที่โจทก์จะนำไปฝังกลบ ว่าเป็นขยะที่มีสารพิษหรือไม่...

จำเลยที่ 3 ให้การว่า... ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม 2546 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมและมีข้อตกลงร่วมกันว่าให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการประกอบกิจการของโจทก์ โดยระหว่างตรวจสอบโจทก์จะไม่นำรถขนกากขยะอุตสาหกรรมเข้าไปในพื้นที่ แต่โจทก์กลับขนกากขยะอุตสาหกรรมเข้าไปในพื้นที่ในระหว่างรอผลการตรวจสอบ จึงเป็นการผิดข้อตกลง ประชาชนจึงมีสิทธิ์ตรวจสอบและคัดค้านการกระทำของโจทก์ อันเป็นการกระทำโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์...

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น...

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายที่อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีในส่วนอาญามาใช้พิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 ...และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ..โดยโจทก์เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีทั้งสองดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยทั้งที่ 2 และที่ 3 พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ...โดยโจทก์เป็นผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิด...อันเป็นการกระทำเดียวกับที่จำเลยทั้งสามกับพวกถูกพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาดังกล่าว โดยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า... คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 เป็นฟ้องซ้ำกับ...คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป... และปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ซึ่งมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง...และสำหรับจำเลยที่ 2 และ ที่ 3 เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง... จึงเป็นการกระทำเดียวและต่อเนื่องกันซึ่งเป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่ตรงกัน ทั้งถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับในคดีนี้ และเมื่อคดีดังกล่าวทั้งหมดถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวทั้งหมดจึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสาม

ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้ ศาลจึงจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษามา จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษามาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ...

ทั้งนี้ ความเป็นมาของคดีดังกล่าว ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2546 เมื่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงบ่อขยะของบริษัทเบตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด ซึ่งประกอบกิจการบำบัดและฝังกลบกากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนใน 3 ตำบล ที่อยู่รอบบ่อขยะ ได้แก่ ต.หนองปลาไหล ต.กุดนกเปล้า อ.เมือง และต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการประกอบกิจการดังกล่าวของบริษัท และเรยกร้องให้มีการตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหา

ต่อมา ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2546 ได้เกิดภาวะฝนตกหนัก ทำประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ บ่อขยะได้รับความเดือดร้อนรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งกลิ่นและน้ำเสียที่ปนมากับฝน ขณะเดียวกันก็พบว่าทางบริษัทฯ ไม่ทำตามข้อตกลงที่ทำไว้ร่วมกับตัวแทนประชาชนและทางหน่วยงานราชการ ว่าจะชะลอการนำกากขยะไปฝังกลบ จนกว่าจะมีผลการตรวจสอบว่าไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมาก จนนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง ให้อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี มีคำสั่งปิดโรงงานชั่วคราว เพื่อยุติความเดือดร้อนของประชาชน โดยเริ่มต้นการชุมนุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 ผลจากการชุมนุม ทำให้รถบรรทุกของบริษัทไม่สามารถลำเลียงขยะเข้าไปในพื้นที่บริษัทได้ จึงนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญาดังกล่าว

ปัจจุบัน ถึงแม้คดีความบางคดีได้มีข้อยุติไปแล้ว แต่ยังคงมีบางคดีที่รอคำพิพากษาจากศาลอยู่ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ ก็ยังคงยืนยันจุดยืนเดิมคือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปขุดบ่อกลบขยะบ่อที่ 1 ซึ่งเป็นบ่อที่มีการฝังกลบไปก่อนที่จะมีการจัดทำ EIA ว่ามีขยะอันตรายหรือไม่ พร้อมทั้งเร่งหาแนวทางแก้ไขและฟื้นฟูจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบบ่อขยะได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข มีความปลอดภัยทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง