“ยูริโกะ โคอิเกะ” เป็นใคร ทำไมชาวโตเกียวเกือบ 3 ล้าน เลือกให้นั่งเก้าอี้ ผู้ว่าฯ หญิงคนแรก

ต่างประเทศ
1 ส.ค. 59
19:53
2,651
Logo Thai PBS
“ยูริโกะ โคอิเกะ” เป็นใคร ทำไมชาวโตเกียวเกือบ 3 ล้าน เลือกให้นั่งเก้าอี้ ผู้ว่าฯ หญิงคนแรก
คว้าชัยด้วยคะแนนที่ห่างจากคู่แข่งมากถึง 1 ล้าน ทำให้ นางยูริโกะ โคอิเกะ วัย 64 ปี ขึ้นแท่นเป็น “ผู้ว่าการกรุงโตเกียวหญิงคนแรก” ในประวัติศาสตร์ บทพิสูจน์การข้ามผ่านแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่ผู้ชายเป็นใหญ่กว่าผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่น

วันนี้ (1 ส.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางยูริโกะ โคอิเกะ วัย 64 ปี ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวหญิงคนแรก ด้วยคะแนน 2.9 ล้าน ทิ้งห่างคู่แข่งมากถึง 1 ล้านคะแนน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (31 ก.ค.) ผ่านนโยบายหาเสียงคือการปรับปรุงนโยบายต่างๆ ในกรุงโตเกียวให้เป็นมิตรกับผู้หญิงมากขึ้น เพื่อให้ผู้หญิงและผู้ชายมีบทบาทเท่าเทียมกันในสังคม และให้คำมั่นว่าจะทำให้การเมืองโปร่งใสมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้นางโคอิเกะจะสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล แต่เธอกลับลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวในนามผู้สมัครอิสระ เนื่องจากทางพรรคไม่ได้ให้การสนับสนุน และส่ง นายฮิโรยะ มาซูดะ ลงสมัครในนามของพรรค โดยนายมาซูดะได้คะแนนเพียง 1.8 ล้านคะแนน น้อยกว่านางโคอิเกะประมาณ 1 ล้านคะแนนเสียง

ด้านประวัติการศึกษาและการทำงานของของนางโคอิเกะ พบว่า ในอดีตเคยเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น แต่ตัดสินใจลาออกแล้วไปศึกษาด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยไคโร ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และจบการศึกษาเมื่อปี 2519

ก่อนเข้าสู่วงการการเมือง เธอเคยทำงานเป็นล่ามภาษาอารบิคและเลขาธิการสมาคมญี่ปุ่น-อาหรับ นอกจากนี้ ยังเคยเป็นผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์

จากนั้น เริ่มเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองในปี 2535 โดยนางโคอิเกะ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมในปี 2546 ภายใต้รัฐบาลของ นายจุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในปี 2550 ภายใต้รัฐบาลชุดแรกของ นายชินโซ อาเบะ

ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้าสำหรับนางโคอิเกะ คือการเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ของกรุงโตเกียว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย เพราะอดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว 2 คนก่อนหน้า ต้องลาออกเพราะเรื่องอื้อฉาวด้านงบประมาณ

โดย นายโยอิชิ มาซูโซอิ อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียวคนล่าสุด ที่ลาออกเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ถูกตั้งข้อสังเกตว่าใช้งบประมาณอย่างไม่เหมาะสม ด้วยการนำเงินภาษีประชาชนไปจ่ายค่าห้องพักในโรงแรมหรู ซื้องานศิลปะ และซื้อหนังสือการ์ตูนให้บุตร ซึ่งนายมาซูโซอิปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่อาจจะขัดต่อจริยธรรม

ขณะที่ นาโอกิ อิโนเซะ อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว ที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2556 ถูกกล่าวหาว่ารับเงินสินบน 18 ล้านบาท จากเครือโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หลังกรุงโตเกียวได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคไม่นาน

ส่วนการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคก็เต็มไปด้วยปัญหา ทั้งความล่าช้าในการก่อสร้างสนามกีฬา ที่มีการปรับรูปแบบการก่อสร้างในช่วงสุดท้าย เนื่องจากผู้นำญี่ปุ่นต้องการลดค่าใช้จ่าย หลังพบว่าแบบก่อสร้างเดิมมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมหาศาลถึง 265,100 ล้านเยน ซึ่งแบบก่อสร้างใหม่จะช่วยประหยัดงบประมาณได้กว่า 1 แสนล้านเยน รวมถึงการออกแบบโลโก้ที่ต้องสั่งให้ประกวดใหม่ทั้งหมด เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนแบบจากนักออกแบบชาวเบลเยียม

กรุงโตเกียวเหลือเวลาอีก 4 ปีในการเตรียมความพร้อม ซึ่งชาวญี่ปุ่นหวังว่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิคจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ญี่ปุ่นแม้จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่สังคมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังยึดถือแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่ผู้ชายเป็นใหญ่กว่าผู้หญิง สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบกับการทำงานของนางโคอิเกะ ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าเธอจะรับมือกับปัญหาด้านอคตินี้ได้อย่างไร

ซึ่งช่วงหาเสียง นายชินทาโร่ อิชิฮาระ อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว ผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ได้หยิบยกเรื่องเพศขึ้นมาโจมตี โดยระบุว่า ชาวเมืองโตเกียวไม่ควรปล่อยให้กรุงโตเกียวขึ้นอยู่กับผู้หญิงที่แต่งหน้ามากเกินไป ซึ่งถือว่าเป็นคำพูดที่รุนแรง แต่นางโคอิเกะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยให้สัมภาษณ์ว่าชินกับเรื่องแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง