30 องค์กรภาคใต้ ระบุ 5 เหตุผลไม่รับร่างรธน. ยื่น 3 ข้อเสนอให้ คสช.

การเมือง
2 ส.ค. 59
20:46
9,795
Logo Thai PBS
30 องค์กรภาคใต้ ระบุ 5 เหตุผลไม่รับร่างรธน. ยื่น 3 ข้อเสนอให้ คสช.

วันนี้ (2 ส.ค.) เวลา 13.00 น. ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา เครือข่าย30 องค์กร ภาคประชาชนในภาคใต้ จัดเวทีถกแถลง รัฐธรรมนูญฉบับชิว ชิว “คนใต้คิดอย่างไร กับ รัฐธรรมนูญฉบับชิวชิว”

ราชการในระบบรัฐสภา ทำลายระบบตรวจสอบ

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่หัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่อาจพลิกโฉมสู่วิถีอารยะ หรือการดำดิ่งสู่ความขัดแย้งอันรุนแรง ยาวนาน และนี่จะเป็นบททดสอบสำคัญถึงการตระหนักรู้ในระบอบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตย และจิตวิญญาณที่สะท้อนผ่านการตื่นรู้ของประชาชน พลเมือง ที่มุ่งมั่นกับการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยมายาวนาน

การสัมมนาประสาคนใต้ รัฐธรรมนูญฉบับชิว ชิว ในวันนี้ แท้จริง คือการประกาศเจตนาถึงการยืนหยัดในความเชื่อที่วางอยู่บนหลักการประชาธิปไตยที่หนักแน่น มั่นคง ภายใต้ฐานคิดแห่งรัฐธรรมนูญที่ถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้เป็นกฎหมายสูงสุด สำหรับการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คน การรับรองสิทธิเสรีภาพ การจัดสรรทรัพยากร และการกำหนดทิศทางการบริหารราชการแผ่นดินให้บรรลุเป้าหมายอันตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในสังคมอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมทุกชั้นชน รวมถึงการสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ของชุมชน ประชาชน พลเมือง ต่ออนาคต คุณค่า และราคาประชาธิปไตย ในเงื้อมเงาของรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ที่ต้องธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ในหลักการประชาธิปไตย ความเป็นนิติธรรม และนิติรัฐ กลับถูกลดทอนให้เหลือเพียงกฎหมายที่มุ่งขจัดคู่ขัดแย้งทางการเมืองจากปรากฏการณ์ทางการเมืองเฉพาะหน้ามากกว่าการวางกฎกติกาสากล ที่นำไปสู่การวางรากฐานทางการเมือง การพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว

“การไม่เชื่อมั่นในเจตจำนงของประชาชน ด้วยการเปิดช่องให้อำนาจรัฐราชการเข้ามามีบทบาทในระบบรัฐสภา เป็นการทำลาย ลิดรอนระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างสถาบันหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเปิด ปูทางสำหรับนายกฯ คนนอก ที่มาของวุฒิสภาที่ให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวาง การทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจควบคุม กำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และการวางมาตรฐานทางจริยธรรมที่คลุมเครือ” รศ.ดร.ณฐพงศ์กล่าว

สิทธิเป็นหน้าที่โดยรัฐเท่ากับสถาปนาอำนาจนำเหนือปชช.

นอกจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงขาดการยึดโยงกับประชาชน พลเมือง เท่านั้น หากทว่ายังทำให้มีอำนาจอันชอบธรรมในการละเมิดสิทธิประชาชน ภายใต้วาทกรรมความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงสิทธิชุมชนที่หายไปในรัฐธรรมนูญ เหล่านี้จึงเป็นรูปธรรมที่สะท้อนอย่างจงใจที่สุดในการลดลอนสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรี คุณค่าประชาชน

“การกำหนดให้สิทธิเป็นหน้าที่โดยรัฐ จึงกลายเป็นความชอบธรรมในการสถาปนาอำนาจนำเหนือประชาชน ที่ถือเป็นการกัดกร่อน บ่อนเซาะประชาธิปไตยทางตรง ไปพร้อมๆ กับการทำลาย “รอยทางประชาธิปไตย” ที่ภาคประชาชน ชุมชน พลเมือง ได้ต่อสู้ เรียกร้อง ถากถาง สร้างขึ้นมา อย่างอดทน ยากลำบากในช่วงระยะเวลาที่ผ่าน - อย่างแยบยลที่สุด” รศ.ดร.ณฐพงศ์กล่าว

“สังคมไทยเติบโต มีพัฒนาการทางการเมืองและการสร้างประชาธิปไตย ไกลเกินกว่าจะถอยหลังกลับไป ฉะนั้น...จงอย่าพยายามในการปิดประตูประชาธิปไตยใส่หน้าประชาชน ขอบอกอย่างชิว ชิว”

รัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นมาด้วยความกลัว

ด้านนายสมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ กล่าวว่า คงไม่กี่หน ที่เราจะพูดว่าไม่อยากให้ผ่าน ผมรู้สึกว่า สังคมไทยมันสับสนพอสมควร ถ้าอยากให้นายกอยู่ต่อต้องการอะไรรัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นมาภายใต้สถานการณ์ของความกลัว คนร่างก็ร่างขึ้นมาด้วยความกลัว กลัวนักการเมือง กลัวชาวบ้าน กลัวการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐธรรมนูญนี้ตัดหลายอย่างออกไป โดยเฉพาะเรื่องสิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เห็นหัวชาวบ้าน และให้ความสำคัญกับข้าราชการมาก ที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องของการสืบทอด เรื่องของคำถามพ่วง ที่ออกมาภายหลัง เป็นคำถามของสำคัญมาก โดยเนื้อความ ทำให้คนเกิดความสับสน และมีการขีดเส้นเวลาไว้ถึงการสืบทอดไม่ต่ำกว่าสิบปี ประเทศนี้ก็จะอยู่ในภาวะอึมครึมไปอีกสิบปี นี่คือเหตุผลที่ผมคิดว่า ไม่ต้องพูดถึงเนื้อหา เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้


ด้าน นายกาจ ดิษฐาพิชัย ภาคประชาชน คนพัทลุงเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เป็นช่วงเวลาที่ต้องขอบคุณ คสช. ที่ทำให้คนไทยเข้าใจว่า ประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ขอบคุณที่สิทธิ เสรีภาพของประชาชนหายไป ขอบคุณที่ทำให้ประชามติ หมายความว่า การปิดหู ปิดตา ปิดปากถ้าประชาธิปไตย ต้องดูว่าที่มาของรัฐบาลมาจากใคร รัฐธรรมนูญชุดก่อน

“ผมคิดว่าการให้คนจำนวนไม่มากนักร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมรับไม่ได้จริง ๆ เพราะว่าในมาตรา 65 มาตรา 142 ที่บอกชัดเจนว่า ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กลายเป็นว่าคนจำนวนหนึ่งมาบังคับกำหนดกฎเกณฑ์ให้คนไทยต้องทำตาม และต้องทำให้เสร็จภายใน 20 ปี แบบนี้ไม่ไหวไม่รับ” นายกาจกล่าว

 

ทิศทางบ้านเมือง ถ้าตั้งคำถามผิด ถึงแม้ว่าคำตอบถูกมันก็ผิด

นายจรูญ หยูทอง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ตนมีข้อสรุปคือ ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ จะมีความก้าวหน้าเกินความรู้ความสามารถของประชาชนเป็นไปไม่ได้ การพัฒนาประชาธิปไตยนั้น ประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดจากเผด็จการได้ ดังนั้นทิศทางบ้านเมือง ถ้าตั้งคำถามผิด ถึงแม้ว่าคำตอบถูกมันก็ผิด รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของบ้านเมือง เป็นเรื่องของข้อตกลงระหว่างรัฐกับประชาชน ในช่วงเวลาอันสั้น ตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา เรามีรัฐธรรมนูญทั้งหมด 4 ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แม้จะเกิดจากการรัฐประหาร แต่ก็เปิดให้วิพากษ์ วิจารณ์กันได้ มีเปิดให้ลงประชามติ

เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเขียนไว้ดีแค่ไหน ถ้าระบบสังคมวัฒนธรรมไม่เปลี่ยน ก็ยังคงเป็นปัญหา และปัญหาหนึ่งที่คิดไม่ตกคือ ก็หน้าเดิม เหมือนเดิม วิเคราะห์เหมือนเดิม แต่นับแต่นี้ไปเราไม่ต้องกังวล เราไม่มีอะไรเหมือนเดิมแน่นอน

สุดท้ายที่คิดว่า สำคัญ รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของสังคม แต่สิ่งที่สำคัญคือ วัฒนธรรมทางการเมือง เรามองเพียงคนที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ประเทศนี้มีปัญหาหลายเรื่อง แม้แต่คำว่า ประชาชน ก็ไม่มีการนิยาม

สำหรับนิยามว่า ผู้ที่มักจะได้ในส่วนที่ไม่ควรได้ ประเด็นที่สำคัญคือ เราจะอยู่กันอย่างไร หลังวันที่ลงประชามติ สิ่งที่เราต้องเปลี่ยน วัฒนธรรมในการคิดและเราจะจัดการพลังที่มีอยู่อย่างไร เราจะสร้างกติการ่วมกันอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายประสิทธิชัย หนูนวล ได้อ่านแถลงการณ์ 30 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้ 2 สิงหาคม 2559 การลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ว่า เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย การรับหรือไม

5 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเป็นสิทธิส่วนบุคคลอีกเช่นกันที่สามารถแสดงออกแจ้งบอกจุดยืนพร้อมเหตุผลต่อสาธารณะได้ จึงนำมาซึ่งการจัดเวที คนใต้รับหรือไม่รับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชิว ๆ” ขึ้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ในวันนี้ (2 สิงหาคม 2559)
และจากความเห็นร่วมของ 30 องค์กรประชาชนภาคใต้ รวมทั้งนักวิชาการ อาจารย์ ปัญญาชน นักพัฒนาเอกชน แกนนำภาคประชาชน ในภาคใต้ ต่างมีความเห็นที่ไปในทิศทางเดียว ที่จะ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ด้วยหลากหลายเหตุผล อาทิ

1.มีการปิดกั้นการแลกเปลี่ยน การแสดงความคิดเห็นอย่างน่าเกลียด จนเกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง เมื่อไม่ให้ถกไม่ให้วิพากษ์ ก็สมควรไม่รับร่าง
2.เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนคนไทยรู้สาระเนื้อหาที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญน้อยมาก รับรู้แต่ย่อสาระสำคัญที่มีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง เมื่อไม่รู้จะให้รับร่างได้อย่างไร
3.ร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีสาระสำคัญที่ด้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อย่างชัดเจนในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านสิทธิชุมชน การสาธารณสุข การศึกษา การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสาระการปฏิรูปล้วนไม่ปฏิรูปจริง เพราะยังเลื่อนลอย “ให้เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด”
4.ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีแก่นแกนของจุดยืนในการเพิ่มอำนาจรัฐราชการและลดอำนาจภาคประชาชน เจตนาสมยอมให้กลุ่มทุนและรัฐราชการร่วมกันยึดกุมการบริหารประเทศอย่างรวมศูนย์ ไม่กระจายอำนาจ ไม่สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่ปกป้องสิทธิชุมชน และเหตุอันนี้จะนำมาสู่การล่มสลายของสังคมภายใต้การยึดกุมของกลุ่มทุน
5. ในบทเฉพาะกาล และคำถามพ่วง มีความชัดเจนให้มีการสานต่ออำนาจ คสช.จากการให้อำนาจรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งย่อมหมายถึง 2 รัฐบาลหรือแปลว่า คสช.สามารถสานต่ออำนาจได้ยาวนานถึง 8 ปี

ยื่นข้อเรียกร้อง คสช. 3 ประการ

ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ทางเครือข่าย 30 องค์กรภาคประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขอเรียกร้องต่อ คสช. เพียง 3 ประการ คือ

1.ขอให้ คสช.ประกาศอย่างชัดเจน เปิดกว้างให้ประชาชนสามารถวิพากษ์ วิจารณ์ ให้ความเห็น รณรงค์ สร้างกระแสทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างได้อย่างเต็มที่ในโค้งสุดท้าย ล้างบาปความผิดพลาดในการปิดกั้นคุกคามที่ผ่านมา อันเป็นการเคารพเสียงประชาชน ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ก็ตาม
2.ขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ทาง คสช.จะดำเนินการต่ออย่างไร ทั้งนี้ทางเครือข่าย 30 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้เห็นว่า เมื่อประชาชนไม่รับ คสช.ก็หมดความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ขอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทั้งฉบับกลับมาใช้ใหม่ ใส่บทเฉพาะการเรื่องการตั้งกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเข้าไป และจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แล้วจึงค่อยพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไปโดยกลไกของประชาชน
3.ขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน บุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช.จะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะไม่ลงเลือกตั้ง จะไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ และจะไม่เสียสัตย์เพื่อชาติอย่างเช่น พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในครั้งการรัฐประหาร รสช.

นี่คือ 5 เหตุผลที่ไม่รับร่าง และ 3 ข้อเสนอให้ คสช.ดำเนินการก่อนวันลงประชามติ

 

วันชัย พุทธทอง รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง