กิน "ปลากระป๋อง" อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

ไลฟ์สไตล์
3 ส.ค. 59
08:54
81,495
Logo Thai PBS
กิน "ปลากระป๋อง" อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ
หลายคนพยายามเลี่ยงการกินอาหารกระป๋อง เพราะกังวลจะได้คุณค่าทางอาหารน้อยหรือมีสิ่งเจือปน แต่นักโภชนาการแนะนำว่า ถ้ารู้จักรับประทานอย่างถูกวิธีก็ช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากอาหารกระป๋องได้

ปลากระป๋องเป็นอาหารที่มีราคาไม่แพงคือเพียงกระป๋องละ 10 กว่าบาทและยังหาซื้อได้ง่าย ทำให้ปลากระป๋องเป็นอาหารประจำของคนจำนวนไม่น้อย

เพชร วันเจิม อาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างย่านหลักสี่เป็นหนึ่งในผู้ที่ฝากท้องไว้กับปลากระป๋องเป็นประจำ เมนูปลากระป๋องผัดพริกและต้มยำปลากระป๋องเป็นตัวอย่างเมนูอาหารที่เขาปรุงเพื่อกินกับเพื่อนร่วมงานช่วงพักกลางวัน บ่อยครั้งที่กับข้าวในบ้านก็มีปลากระป๋องเป็นจานหลัก

ปลากระป๋องที่จำหน่ายตามท้องตลาด นิยมนำปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาโอ ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล มาบรรจุในซอสมะเขือเทศ น้ำมันและน้ำเกลือให้ผู้บริโภคได้เลือกตามความชอบ ปลาทะเลเหล่านี้ มีโปรตีนย่อยง่ายและกรดไขมัน ที่เรียกว่าโอเมกา-3 และกรดไลโนเลอิค ช่วยลดการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยบำรุงสมอง และช่วยป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

 

 

แม้ว่าปลากระป๋องจะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่อย่าลืมว่า กว่าเนื้อปลาทะเลเหล่านี้จะถูกบรรจุลงกระป๋อง ต้องผ่านหลายกระบวนการ รวมทั้งเสี่ยงเกิดสารอันตรายที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ สารที่ว่านี้ คือ "ฮีสทามีน" ที่เกิดขึ้นจากแบคทีเรียย่อยกรดอะมิโนในตัวปลา ระหว่างการขนส่งและจัดเก็บปลาทะเล ซึ่งบางครั้งความเย็นอาจไม่มากพอ โดยพบบ่อยในปลาทูน่า ปลาโอแถบ ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของปลากระป๋อง

วิไลลักษณ์ ศรีสุระ นักโภชนาการชำนาญพิเศษ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า การรับประทานเนื้อปลาที่มีปริมาณฮีสทามีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพได้ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

"คนที่ควรระวัง คือ คนที่แพ้อาการทะเล ผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งวัยนี้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกินปลากระป๋อง รวมทั้งคนที่เป็นภูมิแพ้อาหารทะเลบางอย่างก็ต้องระวัง ส่วนอาการแพ้ก็ขึ้นอยู่กับการบริโภคมากๆ มีทั้งผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายท้องร่วมด้วย"

 

 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่า มีผู้แพ้สารฮีสทามีนในปลากระป๋องจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็มีคำแนะนำว่าปลากระป๋องนั้นควรเป็นแค่ทางเลือกในการรับประทานอาหารเท่านั้น และไม่ควรรับประทานเกิน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

แม้ว่าผลตรวจปริมาณสารฮีสทามีนในปลากระป๋องที่ขายในตลาดจะมีปริมาณน้อยมากในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาหารกระป๋องที่เก็บได้นานๆ จะมีปริมาณโซเดียมที่สูงเช่นกัน อย่างเช่น ปลากระป๋องขนาด 85 กรัม 1 กระป๋อง มีโซเดียมสูงถึง 300 มิลลิกรัม หรือคิดเป็น 1 ใน 7 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ถ้ากินมากเกินไปนี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคไตและโรคเรื้อรังหลายอย่าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง