เปิดแผนกลลวง-ธุรกิจนมผงผลักเด็กจากเต้า "พญ.ยุพยง" ขยับสู้กว่า 2 ทศวรรษเพื่อ "นมแม่"

สังคม
4 ส.ค. 59
10:30
646
Logo Thai PBS
เปิดแผนกลลวง-ธุรกิจนมผงผลักเด็กจากเต้า "พญ.ยุพยง" ขยับสู้กว่า 2 ทศวรรษเพื่อ "นมแม่"
ในสัปดาห์นมแม่โลกปี 2559 บรรดาแม่ๆ ต่างร่วมกันรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่กว่าที่นมแม่จะกลายมาเป็นกระแสหลักได้อย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ "พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช" เป็นผู้ที่จะบอกเล่าเรื่องนี้ได้ดีที่สุด

ทุกวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี องค์กรพันธมิตรนมแม่โลก หรือ World Alliance for Breastfeeding Action (WABA) กำหนดให้เป็น “สัปดาห์นมแม่โลก” เพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ต้องใช้เวลากว่าเด็กจะได้กินนมแม่

พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องการส่งเสริมให้เด็กไทยกินนมแม่ เปิดเผยว่า สมัยที่เป็นสูตินารีแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีนโยบายสนับสนุนนมแม่อย่างจริงจังนั้น เธอไม่คิดว่าการส่งเสริมให้ลูกกินนมแม่เป็นหน้าที่ของสูตินารีแพทย์

"เราคิดว่าเต้านมแม่ไม่เกี่ยวกับสูตินารีแพทย์ หมอเด็กจะทำอะไรก็ปล่อยเขา แต่พอได้ฟังอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศบอกว่าจริงๆ แล้วบทบาทการสนับสนุนให้เด็กกินนมแม่ คือบทบาทของสูติกรรม เพราะหมอสูติฯ เป็นคนที่ดูแลแม่ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร พอฟังแล้วถึงได้รู้ว่า เรื่องการส่งเสริมการกินนมแม่เป็นหน้าที่ของเราด้วย"

พญ.ยุพยงเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอทำงานขับเคลื่อนเรื่องนมแม่ ตั้งแต่ปี 2534 พญ.ยุพยง เดินหน้าทำงานขับเคลื่อนเรื่องนมแม่ทุกรูปแบบ จนผลักดันให้โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทุกแห่งเป็น "โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก" ที่มุ่งมั่นและส่งเสริมการใช้นมแม่มาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งมีการรวมตัวกันของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งชมรมนมแม่เพื่อเดินสายอบรมให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) โดยมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเอื้อเฟื้อสถานที่ให้จัดกิจกรรม

จากชมรมนมแม่ก็ขยับขึ้นมาเป็นศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และตั้งเป็นมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2553 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อุตสาหกรรมนมผงคู่แข่งนมแม่

แต่การขับเคลื่อนเรื่องนมแม่ตลอด 24 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พญ.ยุพยงกล่าวว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะอุตสาหกรรมนมผง ซึ่งถือเป็น "คู่แข่ง" ตัวฉกาจของนมแม่ ใช้ความแข็งแกร่งทั้งด้านเงินทุนและการทำการตลาด รุกคืบช่วงชิงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง จนทำให้นมแม่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรและลดโอกาสการบริโภคนมแม่ของทารกไปโดยปริยาย

"เราไม่มีเงินจำนวนมหาศาลที่จะมาส่งเสริมการให้นมแม่ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงความสามารถในการแข่งขัน (กับผลิตภัณฑ์นมผง) นมแม่ถือว่าเป็นศูนย์เลย ไม่มีโอกาสที่จะแข่งขันได้"

พญ.ยุพยงกล่าวและให้ข้อมูลว่า กลยุทธ์สำคัญของบริษัทผลิตนมผง ยังคงเน้นการลดแลกแจกแถม รวมทั้งใช้สถานที่บริการสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์เป็นเครื่องมือ เช่น ในอดีตแทบทุกโรงพยาบาล จะได้รับการบริจาคนมผงจำนวนมาก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางโรงพยาบาลจะชงนมผงเตรียมไว้ที่ห้องพักฟื้นของคุณแม่หลังคลอด เพื่อให้นำไปเลี้ยงลูกในขณะที่น้ำนมแม่ยังไม่ไหล ทั้งที่ความจริงแล้ว นมแม่จะไหลได้ก็ต่อเมื่อได้รับการดูดกระตุ้นบ่อยๆ จากลูกตั้งแต่แรกคลอด

"วิธีการทำการตลาดโดยใช้วิธีบริจาคนมผงในโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลมีนมผงใช้อย่างเหลือเฟือ หรือซื้อได้ในราคาถูกมาก ส่งผลให้บุคลากรด้านแม่และเด็ก ไม่มีความพยายามหรือตั้งใจที่จะช่วยให้คุณแม่ให้นมลูกได้สำเร็จ"

นอกจากนี้ พญ.ยุพยงยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การแจกตัวอย่างนมผงหรือการที่บริษัทนมผง ให้ชุดของขวัญกับคุณแม่ ตอนออกจากโรงพยาบาล มีผลบั่นทอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอด 1 เดือนอย่างชัดเจน ที่สำคัญก็คือ การส่งเสริมการตลาดและการโฆษณาของบริษัทนมผงทำให้บรรดาแม่ๆ ทั่วโลกเข้าใจผิดว่า นมผงมีประโยชน์คล้ายคลึงกับนมแม่และสามารถทดแทนกันได้ 

"อนามัยโลก-ยูนิเซฟ" ต้องออกหลักเกณฑ์มาช่วย

ปี 2524 องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ เล็งเห็นว่า การส่งเสริมการตลาดและการโฆษณาของบริษัทนมผงเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดต่ำลง จึงทำหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes) หรือเรียกสั้นๆ ว่า "Code นมแม่" และได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 34

ต่อมาในปี 2547 มีประเทศกว่า 27 ประเทศได้นำ Code นมแม่ มาเขียนเป็นกฎหมายและนำมาเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนควบคุมการส่งเสริมการตลาดและการโฆษณาของบริษัทนมผง

 

ขณะที่ประเทศไทย นำหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการตั้งแต่ปี 2524 และประกาศกระทรวงในปี 2551 ซึ่งบังคับใช้เฉพาะส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น เนื่องจากการนำหลักเกณฑ์ไปปฏิบัติ ตามข้อตกลงของสมัชชาอนามัยโลกในปี 2524 เป็นเพียงข้อแนะนำเท่านั้น ประเทศสมาชิกจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ

ไทยร่างกฎหมายรองรับ-ยังไม่ผ่านพิจารณา

ดังนั้นปี 2553 ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกเห็นชอบว่า ควรทำหลักเกณฑ์ให้เป็นกฎหมาย ซึ่งประเทศไทย นำมาดำเนินการ ได้รับการรับรองจากภาคีเครือข่ายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ร่างเป็นพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ....ซึ่งล่าสุดร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา

ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ....มีเนื้อหาสำคัญๆ เช่น ห้ามผู้ประกอบการสินค้าแจกคูปอง ลดราคาสินค้าหรือจำหน่ายต่ำกว่าราคาทุน และห้ามบุคคลโอ้อวดหรือแสดงสรรพคุณเกินจริง ที่อาจทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ รวมถึงควบคุมบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยบริการสาธารณสุข ให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติด้วย

แม้ว่าการที่ ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นข่าวดีของคนขับเคลื่อนและผลักดันการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาตลอด แต่ พญ.ยุพยง กลับบอกทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เธอรู้สึกกังวลเพราะขั้นตอนหลังจากนี้ยังอีกยาวไกล

"ตราบใดที่ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็ยังรู้สึกดีใจได้ไม่เต็มที่ เพราะการผ่านความเห็นชอบของ ครม.เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น มันต้องผ่านกฤษฎีกาก่อน เราไม่รู้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีการปรับอะไรบ้าง จากกฤษฎีกาจะต้องเข้าสู่คณะกรรมการสาธารณสุข ซึ่งจะมีตัวบริษัทธุรกิจเข้ามาอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นมันเป็นแค่ร่างแรกที่ส่งเข้าไปเท่านั้นเอง"

พญ.ยุพยงหวังว่า กฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกับยอมรับว่ายิ่งยืดเยื้อออกไป ความหวังของเธอที่จะได้กฎหมายคุ้มครองสุขภาพที่ดีๆ ก็ยิ่งริบหรี่ลง แต่เธอยืนยันว่าจะเดินหน้าทำความเข้าใจกับสังคมต่อ แม้การรับรู้และความเข้าใจของแม่สมัยนี้จะดีขึ้น ที่รู้ว่าควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน แต่ก็ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ยังไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ถึงอายุ 2 ปี

แต่การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ หากกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กมีผลบังคับใช้ ก็จะเป็นแรงหนุนเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมแม่ ซึ่งช่วยให้มีภูมิคุ้มกันและร่างกายแข็งแรงจากสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้

 

จุฑาภรณ์ กัณหา ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง