องค์กรปชช. ชำแหละ ร่าง พรบ.กสทช. เปิดทางรัฐถือครองคลื่นถี่

การเมือง
4 ส.ค. 59
19:53
205
Logo Thai PBS
องค์กรปชช. ชำแหละ ร่าง พรบ.กสทช. เปิดทางรัฐถือครองคลื่นถี่

ค้านร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.....

วันนี้ (4 ส.ค.) สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ สมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา พะเยาทีวีชุมชน สถาบันปวงผญาพยาว คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมแถลงการณ์ ไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ..... ที่กำลังจะออกมาใหม่ โดยเห็นว่า เป็นร่างที่นำมาสู่การแย่งชิงทรัพยากรของชาติที่ประชาชนเป็นเจ้าของ และทำลายหลักการความเป็นองค์กรอิสระเพื่อการปฏิรูปสื่อ เครือข่ายทั้งหมด จึงไม่เห็นด้วยในเนื้อหาหลักของร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นร่างที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่มีเจตนายึดคลื่นความถี่ ที่เป็นทรัพยากรของชาติที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ และล้มหลักการปฏิรูปสื่อที่ประชาชนร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้มาตั้งแต่ปี 2535

การแย่งทรัพยากรคลื่นความถี่ในครั้งนี้ จะทำให้สังคมกลับไปสู่ยุคมืดของสิทธิเสรีภาพการสื่อสาร ที่หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ครอบครองคลื่นความถี่ทั้งหมด และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นธรรม ทั้งที่โดยหลักการแล้ว คลื่นความถี่มีสถานะเป็นทรัพยากรของชาติที่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ส่วนกรณีปัญหาที่แท้จริงของ กสทช. กลับถูกละเลย ทั้งด้านประสิทธิภาพการทำงาน การใช้จ่ายงบประมาณ และการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

การที่ร่าง พ.ร.บ.... มอบอำนาจให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีอำนาจควบคุมกำกับดูแล กสทช. ตั้งแต่กระบวนการสรรหา ไปจนถึงการวินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีปัญหากับการดำเนินการระหว่าง กสทช. กับ แผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือว่าเป็นการครอบงำองค์กรอิสระและเป็นการแทรกแซง กสทช.

 

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มุ่งเน้นที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการ กสทช. คุณสมบัติผู้สมัคร เพื่อกีดกันการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของภาคประชาชน ที่ชัดเจนคือการตัดตัวแทนภาคประชาชน ด้านสิทธิเสรีภาพออกไปโดยสิ้นเชิง

ในประการสำคัญ การลดอำนาจคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติงานของ กสทช. ให้เป็นเพียงคณะกรรมการกำกับการประเมินการปฏิบัติงาน กสทช. เท่ากับเป็นการปิดช่องทางการตรวจสอบถ่วงดุล การทำงานของคณะกรรมการ กสทช. และตกอยู่ในสถานะเป็นเพียงกลไกตรวจสอบภายในเท่านั้น อาจทำให้องค์กรนี้ยิ่งเป็นองค์กรที่ขาดความโปร่งใส และขาดธรรมาภิบาลมากขึ้น

กรณีการกำหนดให้มีการจ่ายค่าชดเชยเมื่อเรียกคืนคลื่นความถี่ซึ่งเป็นการนำเงินสาธารณะไปให้หน่วยงาน ที่ถือครองคลื่นและแสวงประโยชน์ที่ผ่านมา ทั้งที่หลักการตามกฎหมายเดิมชัดเจนอยู่แล้วว่า การเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่นั้นหมายถึงคลื่นที่หน่วยงานรัฐทั้งหมดถือครองอยู่ มิใช่กรณีคลื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่านั้น

เสนอ 9 ข้อ ปรับปรุงร่างพ.ร.บ....

นางสุวรรณา จิตต์ประภัสร์ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน เปิดเผยว่า เครือข่ายภาคประชาชนจึงเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1.ให้นำกระบวนการสรรหาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. กสทช.ปี 2553 กลับมาใช้เพื่อเป็นหลักประกัน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่
2.ให้กำหนดตัวแทนด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจนว่าเป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ และกำหนดคุณสมบัติกรรมการด้านผู้บริโภคต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ กำหนดจำนวนปีของประสบการณ์การทำงาน ให้เท่าๆ กับผู้สมัครกรรมการด้านอื่น
3.ให้กำหนดตัวแทนกรรมการด้านสิทธิเสรีภาพ เป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ เพื่อรับประกันสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรคลื่นของประชาชนอย่างทั่วถึง
4.ให้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับการประเมินเป็นคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ของ กสทช. ตามเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความโปร่งใสขององค์กร และให้คงข้อกำหนดเรื่องเปิดเผยรายงานตรวจสอบของ กตป. ไว้อย่างเดิมด้วย

 

5.ให้เพิ่มกรรมการ กตป. ที่เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองผู้บริโภคและด้านสิทธิเสรีภาพในคณะกรรมการตรวจสอบฯ เพื่อถ่วงดุลการบริหารงานของ กสทช.
6.ให้ลดบทบาทคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการกำกับดูแล กสทช. ให้มีความเท่าเทียมกันและมีความร่วมมือในการทำงานในระดับเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง7.ให้ประเด็นเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในการเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ ออกไป และให้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายปี 2553 กล่าวคือ เรียกคืนคลื่นความถี่ทั้งหมดเพื่อนำมาจัดสรรใหม่อย่างเป็นธรรม
8.ให้ตัดประเด็นการนำเงินกองทุนไปลงทุน เพราะกองทุนมีวัตถุประสงค์ต่างๆ ชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องการทำบริการอย่างทั่วถึงทั้งด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในการคุ้มครองผู้บริโภค การเสริมความเข้มแข็งประชาชน เรื่องการเท่าทันสื่อและเทคโนโลยีสื่อสาร ร่าง พ.ร.บ. นี้ต้องพึงเคารพจุดประสงค์หลักของกองทุนที่กำหนดให้นำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะและช่วยเหลือคนด้อยโอกาสทั่วไป
9.ให้กำหนดว่าอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้มาตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.กสทช.ปี 2553
ให้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องร้องเรียน มิใช่มีเพียงแค่พิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเท่านั้น เพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง

นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติเปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ. กสทช. จะมีผลต่อการลงมติรับ หรือ ไม่รับ ร่างรธน. ที่จะมีประชามติ ร่าง รธน. ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ด้วย เพราะถ้าผู้มีอำนาจ ไม่รับฟังภาคประชาชนเลย ก็ทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจ ไม่ให้ความวำคัญกับการปฏิรูปสื่อหรือ ภาคชุมชนเลย

ด้าน นางจิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ เครือข่ายสื่อภาคประชาชน เปิดเผยว่า การถือครองคลื่นความถี่ ในอนาคตที่อยู่ในความดูแลของรัฐจะส่งผลทำให้ภาคประชาชน ไม่มีโอกาสถือครองคลื่นความถี่ และทำให้การปฏิรูปสื่อไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้ และในปัจจุบันจะเห็นหน่วยงานรัฐถือครองคลื่นความถี่ โดยเฉพาะสถานีวิทยุ 200-300 แห่ง จะเห็นได้ว่า การเปิดทางให้ภาคประชาชน มีส่วนร่วมแทบไม่เกิดขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง