นักวิชาการชี้โพลไม่กระจายกลุ่มตัวอย่าง คนไม่กล้าสะท้อนความจริง

การเมือง
7 ส.ค. 59
18:53
170
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้โพลไม่กระจายกลุ่มตัวอย่าง คนไม่กล้าสะท้อนความจริง
นอกจากพื้นที่นับคะแนนการลงประชามติจากทั่วประเทศแล้ว ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักวิชาการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และประชาชน ร่วมกันนับผลคะแนน นักวิชาการชี้ว่า ผลของโพลล์นั้นมักไม่ตรงกับผลคะแนนจริง เพราะยังไม่ได้กระจายตัวอย่างไปถึงคนทุกกลุ่ม

วันนี้ (7 ส.ค.) เวลา 16.20 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการวิเคราะห์คะแนนออกเสียงประชามติ ด้วยการเปรียบเทียบผลการลงประชามติ ระหว่างปี 2550 และปี 2559 ผ่านเวทีร่วมจับตาประชามติ และยกตัวอย่าง ผลสำรวจการคาดการณ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จากเอกซิทโพลล์

 

ผลคือ รับ 57.3% ไม่รับ 42.7% และแบ่งตามภูมิภาค ภาคเหนือ 56.7% ภาคกลาง 57.1% ภาคอีสาน 54.8 % ภาคตะวันออก 58.9% ภาคใต้ 68.4% ขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เชื่อว่า มีผู้มาลงคะแนนเสียงในครั้งนี้มากกว่า 70% หรือ ประมาณ 35 ล้านคน

ดังนั้น หากเปรียบเทียบ กับคะแนนจากผลเอกซิทโพลล์ แสดงว่า จะต้องมีผู้ออกเสียงรับมากถึง 18 ล้านคน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็นคำถามพ่วง อาจารย์ประภาส เชื่อว่า คนชนบทจะไม่เห็นชอบมากกว่า คนในเมือง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ผลการสำรวจไม่อาจสะท้อนความจริงได้ เพราะคนไม่กล้าสะท้อนความเห็น และตัวเลขที่มาจากโพลล์ ยังไม่กระจายตัวอย่างที่ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม

"ข้อสังเกตแง่การทำโพลล์เรามักจะเข้าถึงเฉพาะคนชั้นกลางในเมือง แต่คนในชนบทต้องการการเลือกตั้งที่สมบูรณ์มากกว่าคนในเมือง ตัวเลขจึงไม่น่าจะสูงขนาดนี้.."

 

ส่วนสาระสำคัญ จากการปาฎกฐา ของ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มองว่า นี่เป็นการออกเสียงประชามิตอีกครั้ง หลังปี 2550 และในปีนั้น ผลคือ รับร่างรัฐธรรมนูญ 57.81% และไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 42.19% แต่หลังการลงประชามติ เพียงไม่นาน ในปี 2557 ก็ยังเกิดเหตุรัฐประหารอีกครั้ง

"คนโหวต yes บอกว่า 2550 ดีกว่า รับไปก่อนค่อยแก้ อยากเลือกตั้งให้เข้าสู่ปกติ ประวัติศาสตร์บอกว่าไม่จริง-อัมมาตบังคับใช้และผ่าน"

อาจารย์ชาญวิทย์ ระบุว่า การลงประชามติครั้งนี้ ริดรอนเสรีภาพมากกว่าปี 2550 ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุมขัง และจับกุม แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้เราเห็นกลุ่มรุ่นใหม่ตื่นตัวกับความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ท่ามกลางการกดดันของกระแสประชาธิปไตยจากต่างประเทศ และทิ้งท้ายว่า "ทุกอย่างของสังคมไทยมีพลวัตร สยามประเทศอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน อะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นก็จะได้เห็น อะไรที่เห็นมาชั่วชีวิตก็อาจจะไม่ได้เห็นอีก

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง