UN เรียกร้องรัฐบาลไทยหารือผู้เห็นต่างลดขัดแย้ง

ต่างประเทศ
7 ส.ค. 59
19:49
322
Logo Thai PBS
UN เรียกร้องรัฐบาลไทยหารือผู้เห็นต่างลดขัดแย้ง
นักวิชาการ ระบุหากประชาชนไทยรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นการให้ความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร ขณะที่สหประชาชาติเรียกร้องรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างสร้างความสมานฉันท์ด้วยการหารือร่วมกัน

วันนี้ (7 ส.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายลุค สตีเวนส์ ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลหารือร่วมกับกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง เพื่อก่อให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง

ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า มีคณะผู้สังเกตการณ์ของสหประชาชาติลงพื้นที่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพื่อติดตามการลงประชามติในวันนี้

นายโจเซฟ เบเนดิก รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า การลงประชามติในวันนี้จะไม่มีความหมาย หากประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเสรี

นายปวิน ชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพี ว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นการให้ความชอบธรรมในการทำรัฐประหารและคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ชัยชนะในการออกเสียงประชามติครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลไทยนำไปใช้เป็นเหตุผลอ้างต่อประชาคมโลกให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถือว่าประชาชนไทยให้การรับรองแล้ว แต่หากผลลงประชามติพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทางกองทัพจะยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองต่อไป เนื่องจากยังไม่ได้พูดถึงการเลือกตั้งที่ชัดเจน

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ส อ้างคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย ระบุว่า วัตถุประสงค์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ลดความจำเป็นในการก่อรัฐประหารในอนาคต พร้อมทั้งลดบทบาทของพรรคการเมือง โดยได้ให้อำนาจแก่กองทัพในการควบคุมดูแลการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ

ทั้งนี้ ไทยผ่านการก่อรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง และมีความพยายามก่อรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ 11 ครั้ง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านการรับรองจากประชาชนจะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง