รองโฆษก ตร.สรุปเหตุทำผิดกฎหมายประชามติ 92 เหตุ

อาชญากรรม
9 ส.ค. 59
08:17
201
Logo Thai PBS
รองโฆษก ตร.สรุปเหตุทำผิดกฎหมายประชามติ 92 เหตุ
กกต.ส่งสัญญาณถึงตำรวจ ไม่ให้เอาผิดกับผู้ที่ไมมีเจตนากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช่น การฉีกบัตรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ดำเนินการอย่างจริงจังกับผู้ที่เจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปผลคดีความผิดเกี่ยวกับการลงประชามติทั่วประเทศ 92 คดี

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ภาพรวมของคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในวันออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าทั่วประเทศ รับแจ้งเหตุ 92 เหตุ แต่ในการดำเนินคดีความ ตำรวจไม่สามารถดำเนินคดีเองได้จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้เสียหายว่าจะเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนหรือไม่ ส่วนการพิจารณาว่าคดีใดจงใจหรือไม่จงใจฉีกทำลายบัตรออกเสียงประชามติ เป็นดุลยพินิจของฝ่ายกฎหมาย กกต. ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางคดีก็ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ฉีกทำลายบัตร ขณะที่คดีของนายปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จงใจฉีกบัตรลงประชามติ ที่หน่วยออกเสียงในพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลบางนา มีความชัดเจนว่าจงใจกระทำผิดตำรวจก็ดำเนินคดีตามขั้นตอน ซึ่งล่าสุดได้ให้ประกันตัวไปแล้ว


สำหรับกรณีนายปิยรัฐ พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวน สน.บางนา ได้แจ้งข้อหา 4 ข้อหา คือ ความผิด ตาม พ.ร.บ.ประชามติ 2 ข้อหา ได้แก่ ฉีกทำลายบัตร และรบกวนขัดขวางการลงประชามติ ความผิดตามคดีอาญา 2 ข้อหา คือ ฉีกทำลายเอกสารทางราชการและทำให้เสียทรัพย์ แต่เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งยังให้การรับสารภาพ เจ้าหน้าที่จึงอนุญาตให้ประกันตัว นอกจากนี้ยังดำเนินคดีกับผู้ถ่ายคลิป และผู้ติดตามอีก 1 คน เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายจงใจ กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ข้อหารบกวนขัดขวางการลงประชามติ โดยได้มีการแจ้งข้อหากับทั้งสองคนเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ได้ส่งโทรศัพท์มือถือของผู้ที่ถ่ายคลิป ไปให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบว่ามีการส่งคลิปการฉีกบัตรไปให้กับใครบ้าง และจงใจจะเผยแพร่หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดการฉีดบัตรในพื้นที่อื่นๆอีกหรือไม่ เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า มีการส่งคลิปภาพ ไปให้กับสื่อมวลชนรายหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยจะมีการพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือข้อกฎหมายอื่นหรือไม่


ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร เปิดเผยสรุปพฤติการณ์ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ รวม 62 เหตุการณ์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งในจำนวนนี้ มีกรณีผู้ฉีกบัตรโดยไม่เจตนากระทำผิด ใน 34 จังหวัด 58 เหตุการณ์ ซึ่ง กกต.ไม่ประสงค์เอาผิด ส่วนผู้ที่มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ตำรวจดำเนินการอย่างจริงจัง สำหรับในวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.2559) นายสมชัย เปิดเผยว่า กกต.จะประชุมเพื่อรับรองผลการออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการ ก่อนแจ้งไปยัง ครม.และ กรธ.เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง