"โปเกมอน โก" ฟีเวอร์! ธุรกิจเกาะกระแสดึงคนเข้าร้าน-50 แบรนด์ ขอใช้ลิขสิทธิ์จัดอีเวนท์

เศรษฐกิจ
9 ส.ค. 59
13:13
674
Logo Thai PBS
"โปเกมอน โก" ฟีเวอร์! ธุรกิจเกาะกระแสดึงคนเข้าร้าน-50 แบรนด์ ขอใช้ลิขสิทธิ์จัดอีเวนท์
นักวิชาการระบุธุรกิจด้านการท่องเที่ยว-บริโภค ได้อานิสงส์จากกระแสการไล่จับโปเกมอน เพราะกระตุ้นให้คนออกจากบ้านไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ขณะโรงแรมในไทยเริ่มออกแคมเปญ ให้เข้ามาไล่จับโปเกมอนในพื้นที่

วันนี้ (9 ส.ค.2559) ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกระแสเกมส์โปเกมอนโก ที่ร้อนแรงในขณะนี้ ส่งผลให้เกิดธุรกิจที่ตามมา ทั้งในแง่การท่องเที่ยวที่อาจจะมีการทำการตลาดให้คนเข้ามาจับโปเกมอนหรือเดินทางมายังสถานที่ ซึ่งจะได้ประโยชน์ด้านการจับจ่ายใช้สอยและบริโภคตามมา เชื่อว่าจะทำให้เกิดเงินสะพัดบางส่วน แต่ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่ากระแสดังกล่าวจะยาวนานแค่ไหน ขณะที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่ จ.เชียงใหม่ ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์เชิญชวนให้ผู้ที่สนใจ เข้ามาจับโปเกมอนในโรงแรม โดยมีเนื้อหาบางส่วนระบุว่าด้วยเนื้อที่กว่า 300 ไร่ มีโปเกมอนรอให้จับจำนวนมาก พร้อมส่วนลดพิเศษการชมสวน เช่าจักรยานจับโปเกม่อน ซื้อบุฟเฟต์และกาแฟ

รายงานข่าวจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า หลังจากที่โปเกมอนโก เปิดให้ไทยดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะนี้มีสินค้าหรือบริการติดต่อ ขอจัดกิจกรรมกับเกมโปเกมอนโกแล้วกว่า 100 ราย โดยบริษัทคัดเลือกเสนอไปให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นอนุมัติกว่า 50 สินค้า ในเกือบทุกอุตสาหกรรม เช่น กีฬา สายการบิน ชุดเครื่องนอน รองเท้า โรงแรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ท่องเที่ยว

 

 

บริษัท ทรูฯ ซึ่งได้สิทธิเป็นเพียงผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของคาแรกเตอร์หรือภาพลักษณ์ตัวละคร รวมถึงทำกิจกรรมพิเศษโปเกมอนโกในไทยเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของเกมหรือผู้ให้บริการเกม หรือปล่อยโปเกมอนในไทยตามจุดต่างๆ โดยบริษัท โปเกมอน คัมพานี ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท นีอานติก สหรัฐ เป็นเจ้าของเกม

 

 

ขณะที่บริษัท เซนเซอร์ ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดแอพพลิเคชั่น เปิดเผยว่าโปเกมอน โก แอพพลิเคชั่นเกมบนสมาร์ทโฟน สามารถทำรายได้ทั่วโลกได้มากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,960 ล้านบาท ในช่วง 30 วันแรกที่เปิดตัว มากกว่าแอพพลิเคชั่นเกมที่ทำเงินสูงสุดอื่นๆ นอกจากนี้โปเกมอน โกยังเป็นเกมบนโทรศัพท์มือถือ ที่มียอดดาวน์โหลดแตะ 10 ล้านครั้งได้เร็วที่สุด โดยผู้เล่นใช้เวลาอยู่กับแอพพลิเคชั่นดังกล่าวราว 26 นาทีต่อวัน เมื่อเทียบกับเฟซบุ๊กที่ 22 นาทีต่อวัน และทวิตเตอร์ที่ 17 นาทีต่อวัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง