นายกฯ วอนรับผลประชามติ ยันปลายปี 60 ปชช.ได้เลือกตั้ง ย้ำยังใช้ ม.44 สร้างความสงบสุขบ้านเมือง

การเมือง
10 ส.ค. 59
20:22
169
Logo Thai PBS
นายกฯ วอนรับผลประชามติ ยันปลายปี 60 ปชช.ได้เลือกตั้ง ย้ำยังใช้ ม.44 สร้างความสงบสุขบ้านเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงรับทราบผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญจาก กกต. ขอทุกคนเคารพเสียงประชาชนส่วนมาก พร้อมเดินหน้าตามโรดแมปที่วางไว้ พร้อมเร่งทำกฎหมายลูก 4 ฉบับ ตั้งให้เสร็จกลางปี 60 เพื่อจัดเลือกตั้งทั่วไปช่วงปลายปี ย้ำยังใช้ ม.44 เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข

วันนี้ (10 ส.ค. 2559) เวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงการณ์ในนามรัฐบาลอย่างเป็นทางการ หลังรับทราบผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยระบุว่า ครม.ได้รับแจ้งผลอย่างเป็นทางการจาก กกต. ซึ่งพบว่ามีคะแนนเสียงเห็นชอบเป็นส่วนใหญ่ หมายความว่าทั้งร่างรัฐธรรรมนูญและประเด็นคำถามพ่วงผ่านการออกเสียงประชามติ จึงใคร่ขอให้ทุกฝ่ายยอมรับผลดังกล่าว

ทาง ครม.และ คสช.ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ รวมถึงสื่อมวลชนทุกแขนงที่ช่วยประชาสัมพันธ์ ที่สำคัญที่สุดคือพี่น้องประชาชนทั้งหลายที่ออกไปใช้สิทธิในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ถึงเกือบประมาณร้อยละ 60 อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณที่ช่วยกันรักษากฎเกณฑ์กติกาและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จนเหตุการณ์ส่วนใหญ่ผ่านไปด้วยดี ไม่เกิดเหตุร้ายรุนแรง ดังที่อาจมีผู้วิตกกังวลหรือคาดเดา

“ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาบรรยากาศดี ๆ เช่นนี้ตลอดไป โดยเฉพาะในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงในอีกประมาณหนึ่งปีข้างหน้า” นายกฯ ระบุ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่ออีกว่า อะไรที่เคยรู้สึกว่าคลุมเครือต้องถือว่ามีความชัดเจนแล้ว การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปตามโรดแม็ปหรือขั้นตอนที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ทุกประการ นับจากขั้นตอนที่ 1 คือเมื่อ คสช. เข้าควบคุมสถานการณ์ จนถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและการจัดตั้งรัฐบาลรวม 3 เดือน

ขั้นตอนที่ 2 เริ่มจากการจัดตั้งรัฐบาลนี้เมื่อ 2 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน และจะยังคงอยู่ต่อไปอีกประมาณ 1 ปี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนถึงการเลือกตั้งในปีหน้า 2560 ส่วนขั้นตอนที่ 3 จะเริ่มเมื่อมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ป และจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เพื่อความเข้าใจ ชัดเจน และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ขอรายงานให้ทราบถึงสิ่งที่จะต้องทำต่อจากนี้ไป ดังนี้

1. กรธ.จะแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประชามติตามประเด็นคำถามพ่วง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประชาชน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความถูกต้อง เสร็จแล้วจึงให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์เขียนร่างรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ลงในสมุดไทย ซึ่งที่จริงก็ได้เตรียมการไว้ก่อนบ้างแล้ว จากนั้น จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงพิจารณาและลงพระปรมาภิไธยต่อ ไป ซึ่งจะใช้เวลารวมแล้วไม่เกิน 3 เดือน

2.เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะสิ้นสุดลง กรธ.จะจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ โดยเฉพาะ 4 ฉบับแรก ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง จะต้องสำเร็จลงก่อนฉบับอื่น ๆ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะจัดทำกฎหมายหลายสิบฉบับและเตรียมการอื่น ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดคู่ขนานกันไป ซึ่งก็ได้เตรียมการไว้บ้างแล้ว เมื่อเสร็จแล้วจะได้เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณา ระหว่างนี้ รัฐบาล คสช. สนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามบทเฉพาะกาล จนกว่าองค์กรใหม่จะเข้ามารับช่วงตามกติกาที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ อันจำเป็นต่อการเลือกตั้ง เป็นงานที่ละเอียดอ่อนและยากลำบากไม่น้อยไปกว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีขั้นตอนมากเช่น ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรต่าง ๆ ตรวจสอบความถูกต้อง แต่น่าจะเสร็จสิ้นจนประกาศใช้ได้ไม่เกินกลางปี 2560 หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน ซึ่งก็คือช่วงปลายปี 2560 อันยังคงเป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ หากสถานการณ์บ้านเมืองยังคงมีความสงบสุขดังเช่นปัจจุบัน” นายกฯ อธิบายเพิ่ม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า อยากให้ประชาชนลองเปรียบเทียบสภาพบ้านเมืองในวันนี้ กับบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนก่อนเดือน พ.ค. 2557 อย่างน้อยอาจถามตัวเองได้ว่าทุกวันนี้ มีความสุขสบายใจขึ้นกว่าเมื่อก่อนหรือไม่ ซึ่งต้องเรียนว่า ช่วงเวลานี้ประเทศไทยยังได้รับความเชื่อมั่น การยกย่อง และการจัดอันดับในขั้นที่น่าพอใจในด้านต่าง ๆ จากนานาประเทศ และประชาคมโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังคงเป็นไปตามปกติ รัฐบาลทุกประเทศให้เกียรติยกย่องประเทศไทย องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่ารัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาล องค์กรอิสระ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่อยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยทำงานไม่ได้ดังในอดีต

ซึ่งแม้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชน โดยเฉพาะฝ่ายเอกชนที่ร่วมกันทำงานตามแนวทางประชารัฐ จะพยายามคืนความสงบสุขแก่ประชาชน ยุติความขัดแย้ง เยียวยาความบอบช้ำของบ้านเมือง มุ่งมั่นแก้ปัญหาเดิม ๆ และนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม แต่ก็ยังมีผู้ไม่พอใจหรือผิดหวังกับความปกติสุขเช่นนี้ ยังคงทำลายและทำร้ายประเทศ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวยิ่งกว่าความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไม่หยุดหย่อน อีกทั้ง ยังจาบจ้วงล่วงเกินสถาบันอันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนอย่างรุนแรงโดยทางสื่อออนไลน์บ้าง ส่งข้อความเข้ามาจากต่างประเทศบ้าง เป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องดูแลมิให้ปัญหาเหล่านี้ เป็นภยันตรายคุกคามความ สงบสุขของประชาชน และความมั่นคงแห่งชาติ แต่ขอยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐจะอยู่ภายใต้กฎหมายและหลักนิติธรรม

“อย่างน้อยอำนาจของ คสช.ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 จะยังคงมีอยู่ต่อไปเพื่อให้ความอุ่นใจ สร้างความมั่นใจให้แก่พี่น้องทั้งหลายไปอีกระยะหนึ่ง จึงขอให้ผู้คิดร้ายต่อประเทศยอมรับนับถือกฎหมาย และคำนึงถึงพลังประชามติ 7 ส.ค.นี้ด้วย” นายกฯ กล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง