“คณิต” แนะอัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง ลดขัดแย้ง-ปรองดอง “คดีประชามติ”

การเมือง
10 ส.ค. 59
20:50
406
Logo Thai PBS
“คณิต” แนะอัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง ลดขัดแย้ง-ปรองดอง “คดีประชามติ”

วันนี้ (10 ส.ค.) ศ.คณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ในประเด็นที่ได้มีข้อเสนอให้ยกฟ้องคนที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีในข้อหากระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ว่า ในช่วงเวลานี้ การทำให้บ้านเมืองสงบก่อนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การปล่อยตัวคนเหล่านี้จะช่วยลดอารมณ์ความโกรธเกลียดระหว่างกันลง

และตอนนี้ร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านไปแล้ว จึงควรเป็นช่วงเวลาของการให้อภัยกันและการดูแลทุกฝ่ายให้ดี แต่การลงโทษในขณะนี้จะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา ซึ่งอัยการเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดขึ้นได้ เพียงแต่อัยการต้องอาศัยความกล้าหาญในการทำสิ่งเหล่านี้

“เขาทำได้เลย อัยการสั่งไม่ฟ้องใครก็ได้ ถ้าไม่มีประโยชน์สาธารณะ กฎหมายเขียนไว้เลย การทำให้บ้านเมืองสงบทำไมไม่ทำ การเลือกตั้งก็ผ่านไปแล้ว คนที่โดนคดีไปฉีกบัตรเขาเรียกว่าเป็นอาชญากรความคิดเห็น ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน ถ้าเราสั่งไม่ฟ้องให้หมด หรือที่ฟ้องไปแล้วอัยการก็ถอนฟ้องได้ เขามีอำนาจ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อสังคม”

ศ.คณิตกล่าวว่า โดยทั่วไปเมื่อเกิดเป็นคดีขึ้นมาแล้ว ก็จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับอัยการ ซึ่งหากอัยการสูงสุดออกแนวปฏิบัติให้อัยการดำเนินตามแนวทางนี้ก็สามารถทำได้ หรือแม้เป็นคดีในศาลทหาร อัยการในศาลทหารก็สามารถใช้แนวทางนี้ในการพิจารณาได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอัยการว่าจะทำหรือไม่

ในส่วนของรัฐบาล ศ.คณิตเห็นว่า แม้รัฐจะบอกว่าเป็นบุคคลเหล่านี้อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง จึงต้องจับกุมมาดำเนินคดี แต่รัฐก็ควรจะมีข้อมูลและแยกแยะให้ชัดว่าใครเกี่ยวข้องแค่ไหน หรือเพียงแค่มีความเห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมด

“เราต้องแยกแยะให้ออก คนที่ลงไปจัดการต้องมีข้อมูลที่ดีว่า คนไหนเป็นอย่างไร ไม่ใช่เหมารวม”

ศ.คณิตเสนอว่า รัฐบาลอาจนำข้อเสนอเพื่อการปรองดองที่คอป.เคยเสนอไว้ 7 ข้อ มาพิจารณาอีกครั้ง โดยข้อเสนอนี้ครอบคลุมตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองปีพ.ศ.2553 มาจนถึงปัจจุบัน เช่น การกล่าวขอโทษต่อผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหตุการณ์ทางการเมือง หรือการกำหนดให้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีสัดส่วนที่ระบุถึงงบประมาณ ที่ต้องนำมาใช้เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เป็นต้น

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง