เปิดกลโกงโครงการประชารัฐ จ.นครศรีธรรมราช

การเมือง
11 ส.ค. 59
20:44
1,184
Logo Thai PBS
เปิดกลโกงโครงการประชารัฐ จ.นครศรีธรรมราช
ผู้ใหญ่บ้านก้มกราบนายอำเภอสิชล จ.นครศรีธรรมราช และกล่าวหาว่า นายอำเภอเรียกเก็บเงินสูตรลับโครงการประชารัฐ วันนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้ใหญ่บ้านเปิดใจกับไทยพีบีเอส เขาอ้างว่า งบประมาณขุดลอกคลองในหมู่บ้านรั่วไหลในขั้นตอนการเบิกจ่ายผ่านอำเภอและจังหวัด

เป็นครั้งแรกที่นายสัมพันธ์ คนดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.เขาน้อย อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ยอมเปิดใจ หลังปรากฎในคลิปภาพก้มกราบในที่ประชุมกำนันและผู้ใหญ่ โดยมีนายอำเภอสิชล เป็นประธาน เพื่อของดจ่ายเงินตาม "สูตรลับ" ในโครงการประชารัฐตำบลละ 5 ล้านบาท นายสัมพันธ์บอกว่า ภาพถูกเผยแพร่ก็มีทั้งเสียงชื่นชมและด่าทอจากผู้เสียผลประโยชน์ แต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ถ่ายและเผยแพร่คลิปภาพ ซึ่งสาเหตุที่ต้องก้มกราบก็เพื่อขอร้องให้มีการดำเนินโครงการประชารัฐอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ผลประโยชน์ตกมือถึงมือของชาวบ้านโดยไม่ตกหล่นระหว่างทาง

ด้วยภูมิประเทศของหมู่ 6 ตำบลเขาน้อยซึ่งอยู่ ติดกับภูเขาและดินบางส่วนเป็นดินกรวดปนทราย ทำให้หมู่ 6 มีแม่น้ำผ่าใจกลางหมู่บ้านรวม 7 สาย แต่ในช่วงหน้าแล้งกลับแล้งจัดเพราะไม่มีสถานที่กักเก็บและยังเกิดการตื้นเขินของแม่น้ำ จึงกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 เสนอโครงการขุดลอกคลองด้วยมือคนในโครงการประชารัฐงบประมาณ 200,000 บาทเพื่อจ้างคนในหมู่บ้านพัฒนาคลอง แต่ขั้นตอนการเบิกจ่ายที่ต้องผ่านทางอำเภออนุมัติก่อนเบิกเงิน จึงอาจทำให้เกิดการรั่วไหล

 

นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ระบุว่า ขั้นตอนการนำเสนอโครงการ การเบิกจ่ายเงิน และตรวจรับงาน ผ่านทางส่วนราชการโดยเฉพาะอำเภอและจังหวัดอาจทำให้เกิดช่องทางการทุจริตของข้าราชการ ทำให้สมาคมกำนันและผู้ใหญ่บ้านได้เสนอผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้คนในชุมชน ได้มีส่วนรวมในทุกขั้นตอนในรูปคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถตรวจสอบการใช้เงินจากโครงการนี้ได้อย่างโปร่งใส

จ.นครศรีธรรมราช มีโครงการประชารัฐใน 23 อำเภอ รวม 1,550 หมู่บ้าน มีโครงการที่เสนอแล้ว 1,687 โครงการใช้งบประมาณกว่า 309 ล้านบาท และได้เบิกจ่ายไปแล้วรวม 1,046 โครงการ หรือประมาณ ร้อยละ 62.21 และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 641 โครงการ แต่ขั้นตอนการเบิกจ่ายที่ต้องผ่านการอนุมัติจากอำเภอและจังหวัดก็อาจทำให้เกิดช่องว่างของการทุจริต ซึ่งจากการตรวจสอบของไทยพีบีเอส ข้าราชการท้องถิ่นหลายคนในพื้นที่ ยอมรับว่า ต้องจ่ายเงินโครงการละ 15,000 บาท ต่อ 1 หมู่บ้าน เพื่อแลกกับการผ่านโครงการ หรือการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งหากคิดจากจำนวนของหมู่บ้านที่มีทั้งหมดอาจทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง