ถกปรับแก้ปัญหายาเสพติด แนะดึงผู้เสพเข้าระบบบำบัดมากกว่าลงโทษคุมขัง

สังคม
19 ส.ค. 59
07:07
465
Logo Thai PBS
ถกปรับแก้ปัญหายาเสพติด แนะดึงผู้เสพเข้าระบบบำบัดมากกว่าลงโทษคุมขัง
ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาเรื้อรัง และยังมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ต้องขังมีมากกว่าคดีอื่นๆ กระทรวงการยุติธรรม จึงเตรียมจัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหายาเสพติดที่เหมาะสมกับประเทศไทย

วานนี้ (18 ส.ค.) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ได้เปิดเวทีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำเสนอนโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยระบุว่า ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกปี แม้ว่าจะมีการใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อป้องกัน ปราบปราม และบำบัดผู้ติดยาเสพติด กระทรวงยุติธรรมจึงต้องจัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยหวังจะบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าว

จากการสำรวจของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พบว่า ในปี 2551 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดร้อยละ 50 ของผู้ต้องขังทั้งหมด ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในปี 2555 และร้อยละ 70 ในปี 2558

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า การแก้ปัญหาควรเริ่มจากการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย จากเดิมที่เน้นการปราบปรามมากกว่าป้องกันและบำบัด ทำให้ผู้เสพจำนวนมากถูกลงโทษคุมขังและถูกตีตราว่าเป็นคนมีประวัติอาชญากรรม ทำให้ไม่สามารถเริ่มชีวิตใหม่ในสังคม สุดท้ายจึงต้องเข้าสู่วงจรเดิมและทำผิดซ้ำอีก

ทั้งนี้ได้นำเสนอผลสำรวจ “เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด” ของ สำนักวิจัยซูเปอร์โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 5,579 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 81.6 ระบุว่า การทำสงครามยาเสพติดไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ร้อยละ 61.6 ระบุว่า การจับกุมผู้ที่เสพติดและผู้ที่ครอบครองยาเสพติดจำนวนน้อย ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.3 ระบุว่าการบำบัดด้วยวิธีตามอาการเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

นายกิตติพงษ์นำเสนอนโยบายยาเสพติดของประเทศโปรตุเกส ที่ประสบความสำเร็จในการเยียวยาผู้ใช้สารเสพติด โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า Decriminalisation policies หรือ การวางฐานะให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยไม่ใช่อาชญากรรม และการเสพถือว่าไม่ผิดกฎหมายอาญา หากครอบครองในปริมาณที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในเบื้องต้นผู้เสพจะได้รับการคัดกรอง จากคณะกรรมการยับยั้งการใช้สารเสพติดที่นำโดยแพทย์ นักสังคม และนักจิตวิทยา ก่อนจะดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุข หรือมาตรการทางปกครอง และติดตามผลโดยคณะกรรมการยับยั้งการใช้สารเสพติด หรือพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้สถิติการใช้ยาของโปรตุเกสลดลง และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากลุ่มประเทศ ที่ใช้นโยบายลงโทษทางอาญา และทำให้ผู้ติดยาหันมาเข้าสู่มาตรการบำบัดเพิ่มขึ้นถึง 400 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งคดียาเสพติดในชั้นศาลลดลงถึงร้อยละ 66

กรณีศึกษานโยบายของโปรตุเกส จึงนำมาสู่แนวคิด “โปรตุเกสโมเดล” เสนอให้กระทรวงยุติธรรม ปรับกระบวนทัศน์และนโยบายจากภารกิจด้านยุติธรรมไปสู่ด้านสาธารณสุข ปรับปรุงกฎหมายและอุปสรรคให้สอดคล้องกับนโยบายปฏิบัติต่อผู้เสพในทิศทางใหม่ ปรับวิธีการบังคับใช้กฎหมายและแนวปฏิบัติจากมาตรการทางอาญาไปสู่มาตรการทางปกครอง สร้างระบบสมัครใจบำบัด และปรับทัศนคติของสังคมให้โอกาสผู้เคยติดยา

ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด ควรมุ่งไปสู่ระบบสาธารณสุขและระบบสุขภาพ จึงจัดประชุมเพื่อหารือ และจะประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อแยกแยะและคัดกรองให้ผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย แต่ขอให้เชื่อมั่นว่านโยบายการปราบปรามยังมีอยู่ และยาเสพติดยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะอยู่ประเภทหนึ่งหรือประเภทสองก็ตาม โดยจะมุ่งไปทำลายแหล่งผลิตและผู้ค้ารายใหญ่

“ในการดำเนินงานระดับชาติ เรามีสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ส่วนในระดับภูมิภาคจะบริหารจัดการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้อำนาจหน้าที่กับทุกองค์กรตามแนวทางประชารัฐ ให้ความสำเร็จเกิดจากชุมชน ส่วนทางกระทรวงสาธารณสุขได้รับเรื่องนโยบายบำบัดผู้ติดยาเรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มดำเนินการแล้ว แม้ว่าอาจจะขัดขนเรื่องบุคลากร สถานที่ ก็จะค่อยๆ แก้ไขและดำเนินการต่อไป หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายก็จะสำเร็จได้ไม่ยาก”

ทั้งนี้ยังมีความคิดเห็นในที่ประชุมที่มีความกังวลว่า กรณีที่ผู้เสพไม่ต้องรับโทษตามคดีอาญา อาจเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่ท้ายที่สุด ผลสรุปของเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ จะถูกนำไปเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง เพื่อการประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยต่อไป

พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง