นายกฯ ระบุการกลับมาพูดคุยกับ "มาราปาตานี" ไม่เกี่ยวระเบิด 7 จังหวัด

ภูมิภาค
23 ส.ค. 59
20:06
312
Logo Thai PBS
นายกฯ ระบุการกลับมาพูดคุยกับ "มาราปาตานี" ไม่เกี่ยวระเบิด 7 จังหวัด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่าการที่ฝ่ายไทยกลับมาพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกลุ่มมาราปาตานีในวันที่ 2 ก.ย.2559 นี้ หลังจากที่หยุดชะงักมานานกว่า 4 เดือน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุวินาศกรรมใน 7 จังหวัดภาคใต้

การพูดคุยสันติสุขระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทย หรือ "Party A" ที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผลเป็นประธานกับกลุ่มมาราปาตานีหรือ "Party B" หยุดชะงักลงหลังการพูดคุยเต็มคณะอย่างไม่เป็นทางการที่ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2559 เนื่องจากฝ่ายไทยไม่ยอมลงนามในกรอบการพูดคุยหรือ "ทีโออาร์" เพราะไม่เห็นด้วยกับการเรียก "Party B" ว่า "มาราปาตานี" แต่ต้องการเรียกว่าผู้เห็นต่างจากรัฐ และฝ่ายไทยไม่ต้องการให้เขียนเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิ์คุ้มกันจากการถูกดำเนินคดี (immunity) ให้สมาชิกมาราปาตานีที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุย

การไม่ยอมลงนามในทีโออาร์ทำให้กลุ่มมาราปาตานีออกมาแสดงความผิดหวัง และทำให้การพูดคุยสันติสุข ซึ่งมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก หยุดชะงักไปนานกว่า 4 เดือน

แต่เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.2559) สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซียรายงานว่าคณะพูดคุยของฝ่ายไทยและมาเลเซียเห็นชอบทีโออาร์ร่วมกันแล้ว และมีกำหนดจะพบกันต้นเดือนกันยายน ขณะที่ "ไทยพีบีเอส" ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในคณะพูดคุยของฝ่ายไทยว่าทั้งสองฝ่ายจะพบกันในวันที่ 2 ก.ย.2559 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาดทั้งสองฝ่ายจะลงนามในทีโออาร์ว่าด้วยกรอบการพูดคุยสันติสุข 

การที่ฝ่ายไทยและฝ่ายมาราปาตานีสามารถหาข้อยุติร่วมกันเกี่ยวกับเนื้อหาของทีโออาร์ได้และตกลงจะพูดคุยกันอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ย.นี้ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากเหตุระเบิดและวางเพลิงหลายจุดใน 7 จังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ 12 ส.ค.2559 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บกว่า 30 คน ประกอบกับการที่มีนักวิเคราะห์หลายฝ่ายให้ความเห็นว่าเหตุระเบิดและวางเพลิงนี้มีลักษณะคล้ายปฏิบัติการของกลุ่ม BRN ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีการตั้งคำถามถึงความเชื่่อมโยงระหว่างเหตุวินาศกรรมใน 7 จังหวัดกับความคืบหน้าในการพูดคุยสันติสุขที่เกิดขึ้น

วันนี้ (23 ส.ค.2559) ผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ ว่าการพูดคุยสันติสุขที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.ย.เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้หรือไม่ นายกฯ ตอบทันทีว่า "ยังไม่เกี่ยวกัน" พร้อมกับเปิดเผยรายงานของฝ่ายความมั่นคงที่เชื่อว่าเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้น่าจะเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่อง คือ 1) กลุ่มพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย (นปป.) ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง 2) กลุ่มผู้ก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่ได้เป็นการขยายความขัดแย้งออกมานอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 3) ความขัดแย้งจากร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีคนนำเนื้อหาบางส่วนไปสร้างความไม่เข้าใจ

พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่าในการพูดคุยกับมาราปาตานี รัฐบาลยึดกฎหมายไทยเป็นหลักและสถานการณ์ความรุนแรงต้องลดลงก่อน จึงจะพูดคุยกันต่อได้

"เรามีเจตนารมณ์ในการสร้างความสงบสันติให้เกิดขึ้นให้ได้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือ เพราะฉะนั้นอย่าไปเร่งนัก เพราะถ้าเร่งก็จะเป็นการกดดันเจ้าหน้าที่ในการทำงาน เพราะเราต้องการให้เห็นว่าความรุนแรงลดน้อยลงเสียก่อน การพูดคุยถึงจะเกิดขึ้นได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์อธิบายว่าขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบทีโออาร์ แต่ยอมรับว่าจะนัดหารือกับมาราปาตานีในเรื่องนี้ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งฝ่ายความมั่นคงกำหนดไว้เบื้องต้นในวันที่ 2 ก.ย.

"รัฐบาลยังไม่เห็นชอบกรอบการพูดคุย ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ทั้งสองฝ่ายต้องมีการพูดคุยกันต่อ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลต้องการทำให้เหตุการณ์ยุติลงได้โดยเร็วที่สุด" นายกฯ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง