"หลับใน" ห้ามขับ เสี่ยงอุบัติเหตุรุนแรง

สังคม
24 ส.ค. 59
06:53
1,717
Logo Thai PBS
"หลับใน" ห้ามขับ เสี่ยงอุบัติเหตุรุนแรง
สาเหตุแรกๆ ของอาการหลับในที่ทุกคนนึกถึง ก็คือ อดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอทำให้ผู้ขับขี่บางส่วนมองข้ามและไม่ระวังเป็นหนึ่งในต้นเหตุ อุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลก

ภาวะง่วงนอนขณะขับรถมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้ขับขี่ ทั้งคนที่อดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอสะสมเป็นระยะนานๆ ทำให้นาฬิกาชีวิตภายในร่างกาย ตารางการทำงานและการดำเนินชีวิตไม่สัมพันธ์กัน การรับประทานยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้ภูมิแพ้ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งโรคประจำตัวและการนอนหลับที่ผิดปกติแต่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่าง โรคลมหลับ นอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้ขับขี่หลายคน รู้สึกง่วง สลึมสลือตลอดเวลาแม้จะพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม

ข้อมูลของศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุจากภาวะง่วงนอนบ่อยที่สุด แม้ว่าผู้ขับขี่จะนอนหลับเพียงพอ ก็คือช่วง 12.00-08.00 น.และช่วง 13.00-15.00 น.

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการหลับในขณะขับรถไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเพราะผู้ขับขี่จะมีอาการง่วงเป็นสัญญาณเตือนมาก่อนเสมอ เริ่มตั้งแต่หาวบ่อยแต่ยังรู้สึกตัวอยู่ และง่วงหนักขึ้นเรื่อยๆจนสมาธิในการขับขี่และความสามารถควบคุมเส้นทางน้อยลง และหากรู้สึกง่วง สลึมสลือขณะขับรถเมื่อไหร่ ก็เป็นเรื่องยากที่ผู้ขับขี่จะฝืนตัวเองไม่ให้หลับ

ก่อนหน้านี้เคยมีผลสำรวจของมูลนิธิรามาธิบดี ที่พบว่าคนไทยทั้งที่ขี่จักรยานยนต์ ขับรถเก๋ง รถบรรทุก และรถโดยสาร ร้อยละ 28-53 ยอมรับว่าเคยหลับในขณะขับรถ

แม้ว่าอาการหลับในจะเป็นการหลับสั้นๆ แว้บเดียวไม่เกิน 10 วินาที หลับๆ ตื่น สะดุ้งตื่น หรือหลับในขณะตายังเปิดอยู่ แต่อาการเหล่านี้กลับสร้างความเสียหายรุนแรงมากบนท้องถนนเพราะหากผู้ขับขี่หลับเพียง 4 วินาที ขณะขับรถด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตร โดยไม่มีคนควบคุมรถ และหากรถไปชนกับสิ่งใดก็ตาม แรงกระแทกจะเท่ากับตกตึกสูง 10 ชั้น นับว่าเป็นการชนที่รุนแรงมาก ทำให้บาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ ผู้ขับขี่สามารถยับยั้งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากภาวะง่วงนอน และหลับในบนท้องถนนได้ เริ่มจากการเตรียมความพร้อมก่อนขับขี่ ทั้งพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง งดกินยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง ที่สำคัญคือไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และหากในระหว่างขับรถเกิดง่วงขึ้นมา ควรหาจุดจอดรถที่ปลอดภัยพักผ่อนสายตา 10-15 นาที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง