จนท.แกะรอยชาวต่างชาติเจาะระบบเอทีเอ็ม ยืนยันไม่กระทบ "พร้อมเพย์"

อาชญากรรม
24 ส.ค. 59
12:56
452
Logo Thai PBS
จนท.แกะรอยชาวต่างชาติเจาะระบบเอทีเอ็ม ยืนยันไม่กระทบ "พร้อมเพย์"
ตำรวจระบุกลุ่มก่อเหตุปล่อยมัลแวร์เข้าระบบตู้เอทีเอ็มของธนาคารออมสินเป็นชาวยุโรปตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งติดตามตัว เผยเคยก่อเหตุแบบเดียวกันที่ไต้หวันและมาเลเซีย ด้านกระทรวงไอซีทียืนยันไม่กระทบต่อระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ

วันนี้ (24 ส.ค.2559) พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 11 พร้อมทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการติดตามเหตุโจรกรรมเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารออมสินว่า ตำรวจได้รับข้อมูลการถูกโจรกรรมเงินจากธนาคารออมสินแล้ว ทั้งนี้ตำรวจสอบสวนกลางของ บชน. ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจพิสูจน์หลักฐานได้ร่วมกันสอบสวน จากพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ ค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ก่อเหตุกลุ่มนี้คล้ายคลึงกับกลุ่มที่ก่อเหตุในไต้หวันและมาเลเซียเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559

พล.ต.ต.ปัญญาระบุว่า การตรวจสอบเส้นทางการเดินทางพบว่าคนกลุ่มนี้มี 5 คน เป็นคนที่ปรากฏตัวที่ไต้หวันและเดินทางเข้าประเทศไทยและขณะนี้ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดการโจรกรรมเงิน คือ วันที่ 7 ก.ค.-30 ก.ค.ที่ทางธนาคารตรวจพบความผิดปกติทางการเงิน ในวันที่ 1- 10 ส.ค. และจากกล้องวงจรปิดพบว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นชาวยุโรปตะวันออก ส่วนจะมีคนไทยเกี่ยวข้องหรือไม่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตู้เอทีเอ็มที่ถูกโจรกรรมมีทั้งหมด 21 ตู้ สูญเสียเงินรวมกว่า 12 ล้านบาท ขณะที่รูปแบบการโจรกรรม คือการปล่อยมัลแวร์เข้าสู่ตู้เอทีเอ็ม โดยแต่ละตู้ที่ถูกโจรกรรมมีการปล่อยมัลแวร์เข้าไปก่อนหน้าแล้ว และเมื่อผู้ก่อเหตุนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ดัดแปลงพิเศษมาเสียบเข้าช่องบัตรเอทีเอ็ม ตู้เอทีเอ็มก็จะทำงานโดยปล่อยธนบัตรออกมา และเมื่อโจรกรรมเสร็จ ตู้เอทีเอ็มจะกลับเข้าสู่โหมดทำงานตามปกติ

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กระทบความเชื่อมั่นของประชาชน เพราะธนาคารสามารถควบคุมได้เร็วและไม่กระทบบัญชีของลูกค้า พร้อมยืนยันว่าจะไม่กระทบกับนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ national e-payment เช่น บริการพร้อมเพย์ เนื่องจากเป็นระบบปิดที่แยกออกมาจากเอทีเอ็มของธนาคาร ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อป้องกันความปลอดภัยคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้

ทั้งนี้ กระทรวงไอซีที มีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยด้านไซเบอร์ทั้งประเทศ ซึ่งจะทำหน้าที่ร่วมภาครัฐและเอกชน ติดตามเหตุการณ์หรือภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต และจากนี้จะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมตั้งกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลความปลอดภัยเป็นรายอุตสาหกรรม เช่น ภาคการเงิน ซึ่งจะช่วยให้สามารถติดตามสถานการณ์ภัยใหม่ๆบนโลกไซเบอร์ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง