ผ่าแนวคิด "เอ็นทรานซ์" 4.0 ผสาน "เอ็นทรานซ์ - แอดมิชชัน"

สังคม
29 ส.ค. 59
20:28
2,478
Logo Thai PBS
ผ่าแนวคิด "เอ็นทรานซ์" 4.0 ผสาน "เอ็นทรานซ์ - แอดมิชชัน"
กระทรวงศึกษาธิการมีแนวคิดกลับไปใช้ระบบคล้ายกับการเอ็นทรานซ์ อีกครั้ง โดยเรียกว่า การเอ็นทรานซ์ 4.0 โดยนักเรียนอยู่ชั้น ม.5 ในขณะนี้จะเป็นรุ่นแรกของระบบเอ็นทรานซ์ 4.0

การปรับรูปแบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ หรือแอดมิชชัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในขณะนี้จะเป็นรุ่นแรกที่ต้องผ่านการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีใหม่ในปีการศึกษา 2561 โดยเปลี่ยนจากระบบแอดมิชชัน เป็น ระบบที่อาจถูกเรียกว่า "เอ็นทรานซ์ 4.0" ซึ่งเป็นการสอบเพียงครั้งเดียวแล้วนำคะแนนไปเลือกคณะ 4 อันดับ โดยเลือกได้ 2 รอบ และมหาวิทยาลัยจะไม่มีการสอบรับตรง คือ ข้อมูลเท่าที่นักเรียนกลุ่มนี้พอจะทราบ แม้จะกังวลกับการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง แต่หลายคนเชื่อว่า น่าจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

นายธนนท์ ภู่ชัย นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กล่าวว่า "การสอบเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่มีข้อดีคือ เราจะรู้คะแนนก่อน แล้วจะเอาไปยื่นว่าเราจะเลือกคณะไหนโดยเลือกได้ 4 คณะ คือ พอเรารู้แล้วก็จะมีโอกาสเราก็เลือกซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับตัวเรา "

ด้าน น.ส.ภัทรปภา แสงทอง นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ระบุ "ถ้าเป็นการสอบรูปแบบแบบเก่าต้องมากังวลว่าต้องไปสอบวันไหนบ้าง มานั่งอ่านหนังสือไปด้วยเรียนไปด้วยก็ปวดหัว "

ขณะที่ นายเดชพลเดช ดวงทิพย์ นักเรียนชั้น ม.5 ร.ร.สุรศักดิ์มนตรี "ความสบายใจก็สู้ระบบแอดมิดชันไม่ได้ เพราะว่าสอบได้แค่ครั้งเดียว แต่แอดมิดชันมีแยกแบบสอบตรง สอบตรงสบายใจก่อน แต่นี่ต้องมาเครียดกว่า"

ระบบ "เอ็นทรานซ์ 4.0" คือการผสมกันระหว่างเอ็นทรานซ์แบบเดิม กับ แอดมิชชัน ที่ใช้มาแล้ว 10 ปีเต็ม รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อธิบายว่า ระบบใหม่ นักเรียนต้องจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้นเพื่อหวังแก้ปัญหาการสมัครสอบตรงและวิ่งรอกสนามสอบ ก่อนหน้านี้นักเรียนส่วนใหญ่จะสมัครสอบตั้งแต่ชั้น ม.5 เมื่อสอบติดเข้าสถาบันอุดมศึกษา ก็จะทิ้งการเรียนในชั้น ม.6

การจัดสอบระบบใหม่ยังคงสอบโอเน็ต เก็ต แพ็ท และวิชาบังคับ 9 วิชาไว้เหมือนเดิม แต่จัดสอบเพียงครั้งเดียวผ่านระบบกลางทั้งประเทศ ในช่วงเดือน มี.ค. โดยไม่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยเปิดสอบด้วยตัวเองแต่สามารถกำหนดสัดส่วนคะแนนและกติกาการรับได้ เมื่อประกาศผลการสอบนักเรียนจะนำคะแนนที่ได้เทียบกับสัดส่วนของแต่ละคณะ เพื่อใช้เลือกคณะที่ต้องการและคิดว่ามีโอกาส 4 อันดับ หากพลาดโอกาสรอบแรก นักเรียนสามารถเลือกใหม่ได้อีก 4 อันดับ ในรอบที่ 2

"บางคนบอกสมัครแล้วมันพลาดทำยังไง หากพลาดมีโอกาสที่ 2 เนื่องจากหากมหาวิทยาลัย 4 แห่ง เลือกนักเรียนคนเดียวกัน โดยนักเรียนเลือก 1 มหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยอีก 3 แห่งจะเป็นช่องว่างในรอบที่ 1 โดยให้เป็นช่องว่างเพื่อที่จะเป็นรอบที่ 2 ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนที่เก่งน้อยกว่าจะมีสิทธิในการเลือกรอบที่ 2 โดยนักเรียนที่เก่งจะสอบติดไปหมดแล้ว ซึ่งนักเรียนที่สอบในรอบที่ 2 ก็จะมีโอกาสติดมหาวิทยาลัยที่ดีเหมือนกัน " ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุ

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่า ระบบใหม่อาจไม่ช่วยแก้ปัญหากวดวิชาแต่ก็เชื่อว่าจะช่วยลดภาระการสอบและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งทั้งระบบอาจเสียค่าใช้จ่ายเพียงไม่เกิน 2,000 บาทเท่านั้น เพราะนักเรียนจะทราบแนวทางล่วงหน้าว่า คณะที่ตนเองต้องการสมัคร เน้นสัดส่วนคะแนนใดเป็นหลัก จึงอาจไม่ต้องสอบในวิชาที่ไม่จำเป็น โดยสัดส่วนที่ว่านี้ กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องจัดทำเป็นคู่มือระบุสัดส่วนการรับของแต่ละคณะ ให้เสร็จภายในเดือน เม.ย.ปี 2560 เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา เตรียมพร้อมเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง