"คนหายหน้าเหมือน" คนบันเทิงใช้ใบหน้าช่วยหาคนหาย

Logo Thai PBS
"คนหายหน้าเหมือน" คนบันเทิงใช้ใบหน้าช่วยหาคนหาย
สร้างกระแสเพียงข้ามคืนให้เรื่อง "คนหาย" ถูกพูดถึงมากขึ้น เมื่อคนบันเทิงร่วมด้วยช่วยใช้ใบหน้าของตัวเองที่คล้ายผู้สูญหาย ถ่ายทำแคมเปญ "คนหายหน้าเหมือน" หวังเป็นสื่อช่วยพาคนหายกลับบ้าน ขณะเดียวกัน ช่วยให้สังคมเห็นความสำคัญของปัญหาคนหายมากขึ้น

ข้อความขอบคุณแทนครอบครัวคนหาย จากแฟนคลับที่ส่งให้นักแสดงหญิง "หน่อย อุ่นเรือน" หรือ "ลำดวล บางรักซอย 9" หลังโฆษณาแคมแปญคนหายหน้าเหมือนของศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เผยแพร่เพียงวันเดียว แม้ยังไม่พบตัว แพรพรรณ อาสนา หากนี่เป็นจุดเริ่มต้นให้เห็นว่าความร่วมมือของคนบันเทิงช่วยให้เรื่องคนหาย กลายเป็นแฮชแท็กที่ถูกโพสต์และแชร์ต่อกันมากในเวลานี้

ทำด้วยใจกันจริงๆ เพราะเพียงทีมงานเล่าความตั้งใจที่อยากให้ "คนหาย" ได้กลับบ้าน 4 คนบันเทิง เอ๋ มณีรัตน์, หน่อย อุ่นเรือน, หมู ดิลก และอาไท กลมกิ๊ก ไม่รอช้าตอบรับร่วมเป็นส่วนหนึ่งใช้ใบหน้าที่คล้ายผู้สูญหาย เคลียร์คิวงานเพื่อมาถ่ายแคมเปญ "คนหายหน้าเหมือน" จากเดิมที่เคยเห็นเรื่องคนหายผ่านสื่อ และไม่รู้ช่องทางที่จะได้ช่วย คราวนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่คนดังหวังใช้ใบหน้าตัวเองที่คุ้นเคยคนทั่วไปเป็นเครื่องมือช่วยตามหา เพียงข้ามคืนคลิปความยาว 2 นาทีกว่า ถูกแชร์ต่อไปแล้วเกือบ 30,000 ครั้ง

ภาพน้องจีจี้ เด็กหญิงที่หายไปเมื่อ 6 ปีก่อน ถูกถือลงสนามฟุตบอลทุกแม็ตช์ของทีมบีอีซีเทโรศาสน, ประกาศตามหาคนหายทุกช่วงท้ายข่าวต้นชั่วโมง, ภาพคนหายติดข้างรถโดยสาร จนถึงบริษัทโฆษณาที่ใช้ไอเดียคิดทำโฆษณากระตุ้นความสนใจของสังคม เป็นความพยายามของทุกหน่วยงานใช้สื่อที่มีในมือช่วยตามหาคนหายกลับบ้าน

กว่า 10 ปีที่มูลนิธิกระจกเงา ขับเคลื่อนปัญหาคนหาย แม้จำนวนผู้สูญหายจะเพิ่มขึ้นทุกปี จนถึงวันนี้มีคนหายรวมกว่า 5,000 คน หากการรับรู้ของสังคมที่เพิ่มมากขึ้น เป็นกระบอกเสียงสำคัญที่ช่วยให้ตามหาคนหายเจอถึงร้อยละ 80 แต่ยังมีคนหายอีกไม่น้อยที่ยังต้องการความช่วยเหลือ

มีคนดังอีกหลายคนที่ร่วมใช้ใบหน้าตัวเองตามหาคนหาย อย่าง ปิ๊บ รวิชญ์ เทิดวงศ์, แม่นางเอกสาวแพนเค้ก, น้าต๋อย เซมเบ้ และโย่ง เชิญยิ้ม ที่แม้เคลียคิวงานไปร่วมถ่ายโฆษณาคนหายหน้าเหมือนไม่ได้ หากอนุญาตให้ใช้ภาพตัวเองตัดต่อร่วมช่วยตามหาอีกแรง น้ำใจจากคนบันเทิงไม่เพียงช่วยให้ปัญหาคนหายถูกพูดถึงและกลายเป็นที่สนใจมากขึ้น หากการใช้หลักการจดจำใบหน้าที่คุ้นเคยก็เป็นอีกวิธีที่อาจช่วยให้ "คนหาย" มีโอกาสได้กลับบ้านมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง